สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020) ครั้งที่ 15 ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดงานในวันที่ 4 สิงหาคม 2563 การนี้คณะผู้บริหาร สำนักอธิการบดีและบริหารความยั่งยืน คณะการจัดการธุรกิจอาหาร คณะวิทยาการจัดการ และสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จและถวายรายงานผลงานวิจัยประกอบไปด้วยชุดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำนมมูร่าห์ จากงานวิจัย “การพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตและการตลาดของกระบือนมในพื้นที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา” และชุดหนังสือ”การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทางเลือกใหม่ของอุดมศึกษาไทย” พร้อมกันนี้ได้ร่วมแสดงผลงานวิชาการ นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมในกลุ่มงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ ทั้งภาคนิทรรศการ ภาคการนำเสนอผลงานวิจัย และภาคการประชุม ได้ชูโมเดลการเรียนการสอน “Work-based Education” กระบวนการสร้างคนคุณภาพพร้อมทำงานจริงในอนาคต โชว์ผลงานวิจัยคุณภาพ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อชุมชน สังคม ประเทศชาติ และแชร์องค์ความรู้กรณีศึกษามากมายผ่านการประชุม-สัมมนาออนไลน์รูปแบบ Onsite และ Online ในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่นิวนอร์มัลเมื่อวันที่ 2-6 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทราราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 พีไอเอ็ม คว้ารางวัล Bronze Award ในกิจกรรม Thailand Research Expo 2020 Award กับผลงานวิจัยนวัตกรรม “การพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตและการตลาดของกระบือนม พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา” นำโดย อ.พวงเพ็ชร์ นิธยานนท์ คณบดี คณะการจัดการธุรกิจอาหาร และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์รับรองคุณวุฒิวิชาชีพด้านอาหาร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ รับมอบรางวัลจากศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และดร.พรรค ธารดำรงค์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา เป็นผู้แทนจากพีไอเอ็ม เข้ารับโล่ขอบคุณการเข้าร่วมงาน นอกจากนี้ คณะบริหารธุรกิจ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งผลงานนวัตกรรมของนักศึกษาเข้าร่วมในกิจกรรมประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา โดยผลงานของนักศึกษาได้รับรางวัล 1 เหรียญเงิน และ 3 เหรียญทองแดงโดยมีรายละเอียดดังนี้
รางวัลเหรียญเงิน
1.Water Hyacinth Potting Bag (ถุงเพาะชำรักษ์โลกจากผักตบชวา) ถุงเพาะชำย่อยสลายได้ทดแทนถุงเพาะชำพลาสติกแบบเดิม ผลงานของนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ หน่วยการเรียนทางไกลจังหวัดสงขลา
รางวัลเหรียญทองแดง
1.BOT Pharmacy (แชทบอทฟาร์มาซี) โปรแกรมแชทบอทที่เชื่อมโยงระหว่างร้านขายยา exta และประชาชนให้ได้รับบริการสุขภาพที่ดีที่สุด พร้อมระบบค้นหาร้านขายยา exta ใกล้คุณที่ช่วยระบุร้านที่อยู่ใกล้กับลูกค้าลดระยะเวลาในการค้นหาร้านขายยาได้ ผลงานจากความร่วมมือในโครงการ Synergy Project ระหว่างนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ และคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ดึงศักยภาพในการออกแบบโปรแกรมแชทบอทของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีมารวมกับทักษะด้านนวัตกรรม และประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกงานจริงในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นของนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ
2.TERMOMASK (เทอร์โมแมส) หน้ากากอนามัยรูปแบบใหม่ที่สามารถวัดอุณหภูมิพร้อมแสดงผลให้คนรอบข้างเห็นได้ ผลงานของนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ หน่วยการเรียนทางไกลจังหวัดเชียงใหม่
3.Smart Key Smart Safe (ขับขี่ปลอดภัย)เทคโนโลยีรถจักรยานยนต์โฉมใหม่ที่จะช่วยลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุได้ ผลงานของนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ หน่วยการเรียนทางไกลจังหวัดเชียงใหม่
ภาคนิทรรศการ สถาบันฯร่วมแสดงผลงานวิชาการและงานวิจัยต่างๆรวมทั้งสิ้น 12 ผลงานจากคณะวิทยาการจัดการ คณะการจัดการธุรกิจอาหาร สำนักอธิการบดีและบริหารความยั่งยืน และสำนักวิจัยและพัฒนา ได้แก่เรื่อง การพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ของสถาบันการศึกษาที่เก่งกว่าเดิม, Work-based Education ผลิตคนพร้อมทำงาน (Ready to Work), ออกแบบชีวิตใช้ศักยภาพสูงสุดเพื่อการสร้างนวัตกรรมและ Start Up (Design Thinking and Design Your Life), หลักการดีๆที่นัก OD…ควรมีตามมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพไทย, การสรรหาและการคัดเลือกบุคลากร, การเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, การบริหารความก้าวหน้าในสายอาชีพ, การบริหารค่าตอบแทน, การบริหารผลงานเพื่อองค์กรประสิทธิภาพสูง, การพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตและการตลาดของกระบือนมในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา, การพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงโดยใช้โมเดลบริษัทจำลองการท่องเที่ยว และยกระดับการเรียนรู้แบบบูรณาการด้วยกิจกรรมทดลองการปฏิบัติจริง
สำหรับผลงานวิจัยนวัตกรรมได้รับรางวัล Bronze Award จากงานวิจัย “การพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตและการตลาดของกระบือนม พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา“ (Potential Development for Production and Markrting of Buffalo Milk in Chachoengsao Province) มินิ มูร่าห์ ฟาร์ม (Mini Murrah Farm) ซึ่งเป็นธุรกิจฟาร์มกระบือนมรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย น้ำนมกระบือจากกระบือนมพันธุ์มูร่าห์ ให้ผลผลิตน้ำนมที่สูง มีราคาและคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำนมโค จึงมีแนวคิดในการพัฒนานมกระบือให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น สามารถนำมาต่อยอดการผลิต สู่การจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เหมาะแก่การส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่เพื่อการประกอบอาชีพ และสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
ภาคการประชุม พีไอเอ็มได้รับเกียรติเป็น Keynote Speaker ของการบรรยายในหัวข้อเรื่อง “People and Education Solutions Lab: Work-base Education Design Thinking and Developing Leader For The Future” รวมทีมนักวิชาการและนักวิจัยมืออาชีพแชร์องค์ความรู้ นำโดย ผศ.ดร.เลิศชัย สุธรรมานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา และ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักอธิการบดีและบริหารความยั่งยืน, ผศ.กีรติกร บุญส่ง ผู้บริหารประจำสำนัก สำนักอธิการบดีและบริหารความยั่งยืน และ รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สำนักบริการวิชาการ, ดร.มัลลิกา บุญญาศรีรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักอธิการบดีและบริหารความยั่งยืน และ อ.วิฑูร วิริยพิพัฒน์ รองผู้อำนวยการ สำนักบริหารกลยุทธ์และนวัตกรรม นำเสนอการจัดการเรียนการสอนรูปแบบการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงควบคู่การปฏิบัติ ช่วยเสริมทักษะด้านต่างๆ ยกระดับองค์ความรู้ให้กับนักศึกษา เชื่อมโยงงานวิจัยสู่การสอนให้ทันสมัย ผ่านการสร้างพันธมิตรเครือข่ายที่หลากหลายและ ร่วมเสนอแนะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนวทางของการศึกษายุคใหม่ที่ต้องปรับตัวพร้อมยืดหยุ่น เผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างผสมกลมกลืน เพื่อผลิตบัณฑิตคุณภาพให้เป็นผู้นำที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพในอนาคต
ภาคการนำเสนอผลงานวิจัย นำเสนอผลงานวิจัย Thailand Research Expo : Symposium 2020 เป็นการนำเสนอข้อมูลมิติของวิชาการระหว่างประเทศ ให้นักวิชาการ นักวิจัย ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พีไอเอ็มนำเสนอผลงานวิจัย ในกลุ่มการวิจัยด้านการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เรื่อง “Brown/Color Rice Export to China In New National Strategy For Rice of Thailand ข้าวกล้อง/ข้าวสีในกลยุทธ์ใหม่การส่งออกข้าวไทยสู่ตลาดจีน” โดย Dr. Tang Zhi Min คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ การวิจัยเน้นการค้นหาชนิดข้าวทางเลือกแก่ผู้บริโภคชาวจีน โดยเฉพาะในกลุ่มข้าวกล้อง ข้าวสาลี ตลอดจนข้าวขาวพื้นนุ่มซึ่งมีศักยภาพในการขยายตลาด การส่งออกข้าวไทยไปจีน พร้อมทั้งเสนอกลยุทธ์ช่องทางในการส่งออกข้าวไทยสู่ตลาดจีน
สำหรับงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ภาคภูมิใจบนเวทีนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ ที่แสดงถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เต็มเปี่ยมด้วยการเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ ไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบายทั้งต่อสังคม ชุมชน และพาณิชย์อุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต