นายแพทย์ เกรียงไกร ตั้งจิตรมณีศักดา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ รับมอบ “วอร์ด Cowit 2020” นวัตกรรมและหุ่นยนต์ เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัส แบ่งเบาภารกิจดูแลผู้ป่วย เพื่อใช้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จาก รองศาสตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และผศ.เกรียงไกร ทัศนวิภาส อาจารย์ประจำ สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตร ผู้สนับสนุนโครงการซึ่งประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์, บริษัท ออลล์ เวลเนส จํากัด, บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอ็ม.ที.คอนโทรล แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด ณ หอผู้ป่วยพิเศษ 21 ชั้น 21 อาคาร 72 พรรษา โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
“วอร์ด Cowit 2020” (Co-Creation Ward Innovation Technology 2020) “หุ่นยนต์และอุปกรณ์” ใช้ขนส่งอาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ยา “เครื่องติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วย” สนับสนุนการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ ลดการตรวจให้สารละลายตามรอบเวลาบนวอร์ด ออกแบบพัฒนาเพื่อช่วยลดความเสี่ยงการสัมผัส แบ่งเบาภารกิจดูแลผู้ป่วย ประกอบไปด้วย
- หุ่นยนต์ที่ใช้ในการนำส่งอาหารและยาให้กับผู้ป่วยจำนวน 2 ตัว โดยตัวแรกคือ “น้อง C” ย่อมาจากคำว่า Collaborate หมายถึงการร่วมมือร่วมใจในการสร้างสรรค์ พัฒนา ระหว่างทีมแพทย์และอาจารย์และนักศึกษาสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ พีไอเอ็ม พร้อมด้วยผู้ร่วมสนับสนุนจากบริษัทต่างๆ มากมาย และตัวที่ 2 คือ “น้อง W” มาจากคำว่า Well หมายถึงความคาดหวังของทีมผู้มีส่วนร่วมทุกท่านประสงค์ให้ทุกอย่างกลับมาดีดังเดิม ทั้งสุขภาพของผู้ติดเชื้อ สถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก
- ตู้ฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคหลังจากที่ “น้อง C และ น้อง W” ส่งอาหารและยาให้แก่ผู้ป่วยเสร็จในแต่ละรอบ
- ประตูอัตโนมัติหน้าห้องผู้ป่วย แต่ละห้องติดตั้งเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถเดินเข้าไปให้บริการผู้ป่วยได้ถึงเตียงโดยลดการสัมผัสประตู
- เครื่องติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วย (อยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร) ใช้สำหรับเฝ้าติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วยว่าอยู่ในอัตราปกติหรือไม่ ผ่านโปรแกรมหรือแอพลิเคชั่นบนมือถือ
รูปแบบการทำงานของหุ่นยนต์ “น้อง C และ น้อง W” คือ เดินตามเส้นทางและใช้แผ่น RFID เป็นตัวช่วยในการตรวจสอบตำแหน่งของห้อง ซึ่งทำงานง่าย สะดวก เพียงกดปุ่มหมายเลขห้องที่ต้องการ จากนั้นหุ่นยนต์จะนำส่งอาหารและยาไปให้ในห้องผู้ป่วย โดยต่อ 1 รอบ สามารถทำได้สูงสุดถึง 6 ห้อง ซึ่งจะทำการประมวลผลอัตโนมัติในการเลือกเส้นทางห้องใกล้ที่สุดไปจนถึงห้องไกลที่สุด จากจุดปล่อยหุ่นยนต์ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วหุ่นยนต์อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ดังนั้นหุ่นยนต์จะต้องเดินไปยังตู้ฆ่าเชื้อ UVC โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้การอบฆ่าเชื้อจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเชื้อโรคได้ถูกกำจัดเป็นที่เรียบร้อย และพร้อมสำหรับการใช้งานต่อไป
ในอนาคตทีมผู้พัฒนาเล็งเห็นว่าหุ่นยนต์ 1 ตัวควรจะปฏิบัติหน้าที่ได้มากกว่า 1 อย่าง อาทิ 1. การตรวจคัดกรองบุคคลที่สันนิษฐานว่าอาจจะติดเชื้อ ผ่านการทำแบบสอบถามด้วย QR-Code ที่หน้าจอหุ่นยนต์ ตลอดจนนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาปัจจัยที่ส่งผลต่อการติดโรคเพื่อนำมาพัฒนาต่อไป 2. การใช้เทคนิคของ Image-Processing ในการตรวจจับบุคคลที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย 3. ในกรณีที่ติดหลอด UVC รอบหุ่นยนต์ทั้ง 6 เสา สามารถเปลี่ยนหน้าที่ จากหุ่นยนต์ส่งอาหารและยาเป็นหุ่นยนต์ ฆ่าเชื้อได้ทันที เพื่อความสะดวกในการเดินเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ ผ่านการบังคับด้วยจอยสติ๊ก และ 4. ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่สำคัญต่างๆ ของโรงพยาบาลผ่านหน้าจอของหุ่นยนต์