เมื่ออู่ฮั่นปิดเมือง ประเทศจีนทั้งประเทศถูกล๊อคดาวน์ การรักษาด้วยวิธีการทำให้ช็อกนี้ แม้สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เสมือนเป็นการกดปุ่ม “หยุด” ให้กับเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
สภาพการณ์เช่นนี้ก็เปรียบเสมือนคนที่กำลังวิ่งฉิวแต่กลับถูกเตะตัดขาอย่างกระทันหัน เมื่อรายรับหยุดชะงักลง แต่ต้นทุนยังคงพุ่งเดินหน้าต่อไป ถ้าหากเป็นคนที่ในสภาวะปกติไม่เคยที่จะฝึกปรือร่างกายใด ๆเลย ก็คงต้องล้มจนกระดูกแตกหักแน่นอน
ธุรกิจ SME จำนวนไม่น้อยต่างอยู่รอดด้วยการค้าขายแบบขอแค่เสมอทุน เงินรายรับของเดือนนี้ จะต้องเอาไว้ใช้จ่ายเป็นเงินเดือนของเดือนถัดไป พวกเขามีความจำเป็นต้องพึ่งพากระแสเงินสดเป็นอย่างมาก และเมื่อได้รับผลกระทบจากโรคระบาดอย่างในเวลานี้ หลายๆธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการ ก็แทบจะหยุดชะงักลงทั้งหมด
แม้ไม่มีรายรับ แต่ต้นทุนกลับไม่ลดลง
ค่าเช่าร้านยังต้องจ่าย เงินเดือนพนักงานยังต้องให้ ค่าเสื่อมอุปกรณ์ก็ยังต้องแบกรับ ในช่วงเวลานี้ หากในมือไม่มีกระแสเงินสดเพียงพอ ไม่สามารถแบกรับภาระการขาดทุนยามนี้ได้ ก็คงเหลือทางเลือกได้เพียงทางเดียวคือล้มเลิกกิจการไป
แล้วจะทำอย่างไรดี ?
ในช่วงที่ทางเราให้คำปรึกษากับภาคธุรกิจ ได้พบว่ามีแนวคิดและตรรกะพื้นฐานแบบหนึ่งที่เรียกว่า “ช่วยชีวิต รักษา และบำรุง”
ช่วยชีวิต คือการทำให้มีชีวิตรอดต่อไป
เมื่อเสียเลือดจำนวนมาก สิ่งสำคัญคือการห้ามเลือดในทันที ไม่ใช่มัวไปวิเคราะห์หาสาเหตุของโรค
รักษา คือการทำให้หายดีขึ้นมา
เมื่อเส้นเลือดเกิดการอุดตัน สิ่งเร่งด่วนคือรีบขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและขดลวด ไม่ใช่ให้ไปลดกินของมันลดกินของเค็ม
ส่วนการบำรุง คือการทำให้กลับมาแข็งแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อสุขภาพร่างกายอ่อนแอ สิ่งสำคัญคือการให้ไปวิ่ง ไปปีนเขา แต่ไม่ใช่ให้ไปดื่มน้ำร้อนเยอะๆ กล่าวคือเมื่อมีชีวิตรอด และหายดีกลับขึ้นมาแล้ว ก็ต้องยิ่งบำรุงให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น
เป้าหมายของแต่ละขั้นตอนไม่เหมือนกัน วิธีการลงมือปฏิบัติก็ย่อมไม่เหมือนกัน
บทความในวันนี้เราจะนำเอาตรรกะที่เรียกว่า “ช่วยชีวิต รักษา และบำรุง” มาตอบคำถามที่ว่า : ภายใต้สถานการณ์โรคระบาด และกระแสเงินสดถูกตัดตอนอย่างกระทันหัน SME จีนจะก้าวผ่านวิกฤตการณ์ทางการเงินในครั้งนี้ได้อย่างไร?
เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ เราได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอาจารย์ Yan Jing มาให้คำแนะนำเป็นพิเศษ อาจารย์ Yan Jing เคยทำงานให้กับบริษัทที่จัดอยู่ใน 500 องค์กรชั้นนำของโลกอย่าง HP และ Agilent เป็นเวลาเก้าปีติดต่อกัน โดยดำรงตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสด้านการเงินเป็นเวลาหลายปี ท่านเป็นผู้มีประสบการณ์มากมายทางด้านการบริหารการเงิน และมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับการประยุกต์นำเอาทฤษฎีทางการเงินไปปฏิบัติจริงในธุรกิจ
1.
ช่วยชีวิต
กระแสเงินสด คือชีวิตของธุรกิจ
การช่วยชีวิต คือการทำให้ได้รับกระแสเงินสดมากขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ แต่ก่อนที่จะยืนยันได้ว่าต้องให้การช่วยชีวิตหรือไม่นั้น คุณจะต้องดูงบกระแสเงินสดของตัวเองก่อน เพื่อคำนวนกระแสเงินสดที่มีอยู่ในมือ
การคำนวณประกอบด้วยเนื้อหาสองส่วนดังนี้คือ
1.เงินสดคงเหลือ
2.กระแสเงินสด
อะไรคือเงินสดคงเหลือ? เงินสดคงคลังก็คือทรัพย์สินทั้งหมดของตัวคุณ ตัวอย่างเช่น ในบัญชีมีเงินสดอยู่เท่าไหร่ แบ่งเป็นเงินฝากเผื่อเรียกเท่าไหร่ และเงินที่สามารถนำกลับมาจากการลงทุนระยะสั้นได้อีกเท่าไหร่ เป็นต้น
แล้วอะไรคือกระแสเงินสด? กระแสเงินสด คือเงินที่คุณควรได้รับภายในเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต รวมทั้งเงินที่คุณจะต้องจ่ายออกไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น มีบัญชีลูกหนี้อยู่เท่าไหร่ มีรายรับจากการจัดการทางการเงินเท่าไหร่ มีเงินเดือนที่ต้องจ่ายอีกเท่าไหร่ มีหนี้จัดซื้อที่ต้องจ่ายอีกเท่าไหร่ หรือมีหนี้กู้ยืมที่ต้องชำระคืนอีกเท่าไหร่ เป็นต้น
เมื่อคำนวนเงินสดคงเหลือและกระแสเงินสดเรียบร้อยแล้ว คุณจะต้องประมาณการกระแสเงินสดทั้งหมดของคุณอีกครั้งตามข้อมูลตัวเลขที่ได้มา ลองคำนวนดูว่าหากตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีรายรับเข้ามา กระแสเงินสดที่คุณมีอยู่จะสามารถพยุงคุณเอาไว้ได้กี่เดือนกันแน่
ตัวอย่างเช่นธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีอัตรากำไรต่ำ แต่เป็นธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่สูง ยิ่งต้องคำนวนอย่างละเอียดรอบคอบ หากกระแสเงินสดของคุณยืนหยัดได้เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น ถ้าอย่างนั้นคุณก็อยู่ในฐานะวิกฤตอย่างมาก ในเวลานี้ เป้าหมายเร่งด่วนของคุณคือการนำกระแสเงินสดที่สามารถยืนหยัดได้เพียง1-2เดือนมาขยายเพิ่มให้สามารถยืนหยัดไปได้ถึง3-6เดือนให้ได้
ต้องช่วยชีวิตก่อน ช่วยชีวิตให้รอดกลับมา แล้วค่อยพยายามใช้เวลาในการรักษา
ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไรล่ะ ถึงจะได้รับกระแสเงินสดอย่างรวดเร็วในเวลาสั้น
ถ้าดูจากมุมมองทางการเงิน มี 6 วิธีคือ :
1. การหาเงินทุนจากหุ้นส่วน
2. ขายของค้างสต็อกให้เร็วที่สุด
3. เก็บเงินล่วงหน้าจากลูกค้า
4. เก็บเงินจากบัญชีลูกหนี้ก่อนถึงกำหนด
5. เลื่อนระยะเวลาการชำระเงินกับเจ้าหนี้
6. พิจารณาลดต้นทุนคงที่ระยะสั้น
เรามาดูกันไปทีละข้อ
วิธีแรกคือ การหาเงินทุนจากหุ้นส่วน คุณสามารถขอความช่วยเหลือจากหุ้นส่วน เมื่อหุ้นส่วนนำเงินทุนมาแล้ว มีอยู่สองวิธีที่จะจัดการได้ วิธีแรกคือ ถือเป็นการเพิ่มทุนของหุ้นส่วน แต่แบบนี้จะมีผลกระทบต่อโครงสร้างการถือหุ้น บริษัทส่วนใหญ่ไม่ยอมทำวิธีนี้โดยง่าย ถ้าอย่างนั้นก็สามารถใช้อีกวิธีหนึ่ง คือ เงินทุนส่วนนี้ให้ถือว่าหุ้นส่วนให้คุณยืม
คุณสามารถให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงแก่หุ้นส่วน ซึ่งเท่ากับว่าหุ้นส่วนให้คุณช่วยบริหารการเงิน รอให้พ้นจากวิกฤตนี้ คุณค่อยคืนเงินต้นรวมทั้งดอกเบี้ยให้กับหุ้นส่วน แม้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้เช่นบริษัทเกิดโชคร้ายต้องปิดตัวลง เงินกู้ยืมจากหุ้นส่วนก็มีสิทธิที่จะได้รับการชำระก่อน ในกรณีนี้ก็สามารถปกป้องผลประโยชน์ส่วนนี้ของหุ้นส่วนได้
วิธีที่สองคือ รีบขายของค้างสต็อกให้เร็วที่สุด ตรวจสอบสินค้าคงเหลือสักหน่อยว่า ในมือคุณมีของค้างสต็อกเท่าไหร่ หลังจากนั้นหาวิธีขายออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสด
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าคุณเปิดร้านอาหารร้านหนึ่ง ของค้างสต็อกในมือส่วนมากคือวัตถุดิบของสด ตอนนี้ด้วยสถานการณ์โรคระบาด ไม่มีคนมาทานที่ร้านอาหาร แล้ววัตถุดินส่วนใหญ่ที่อยู่ในมือจะทำอย่างไร พอดีคุณทราบมาว่าคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นถูกล๊อคดาวน์ซื้อกับข้าวไม่ได้ คุณก็สามารถร่วมมือกับแพลตฟอร์มแบบสั่งกลับบ้านพวก เหม่ยถวน เอ้อเลอมา (บ้านเราคือไลน์แมน แกรปฟู๊ด) เอาวัตถุดิบไปขายและส่งถึงบ้านให้พวกเขา หรือไม่คุณก็เอาวัตุดิบมาแปรรูปเป็นของฝากที่เก็บรักษาได้นาน แล้วขายให้ผู้บริโภค เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสด
การขายของค้างสต็อกออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อให้ได้กระแสเงินสด คุณคงต้องยอมเสียสละกำไรบ้าง ด้วยการเอาของค้างสต็อกมาขายลดราคา ทำแบบนี้ถึงแม้ว่างบกำไรขาดทุนจะดูน่าเกลียดไปบ้าง แต่คุณต้องรู้ไว้ว่า เวลานี้การช่วยชีวิตเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
วิธีที่สาม การเก็บเงินล่วงหน้าจากลูกค้า อะไรคือการเก็บเงินล่วงหน้า
ยกตัวอย่างเช่น คุณมีร้านเชนสโตร์หม้อไฟ แต่คุณไม่สามารถเปิดร้านได้เนื่องจากโรคระบาด และคุณต้องการเงินสดในเวลานี้ คุณอาจจะเปิดขาย member card เช่น ให้เติมเงิน 2,000 หยวน ครั้งหน้าเมื่อลูกค้ามาทานตอนร้านอาหารเปิดอีกที ก็จะได้ส่วนลด 40 % ซึ่งยามปกติจะไม่มีส่วนลดขนาดนี้
การลดราคาแบบนี้ ทำให้กำไรในอนาคตลดลง แต่ช่วงระยะเวลาสั้นๆนี้ การเก็บเงินล่วงหน้าจะทำให้คุณได้กระแสเงินสดมาช่วยชีวิต
แน่นอนว่า การทำแบบนี้ได้ต้องเป็นธุรกิจที่มีความน่าเชื่อถือและมีเครดิต ตัวอย่างเช่นภัตตาคาร Hidilao เพราะถ้าลูกค้าไม่เชื่อคุณ ก็ไม่มีทางเติมเงินในการ์ดให้คุณ
วิธีที่สี่ เก็บเงินจากบัญชีลูกหนี้ก่อนถึงกำหนด
บัญชีลูกหนี้คือ เงินที่คุณจะได้รับในอนาคตในเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ตอนนี้คุณต้องการเงินสด ต้องการเก็บเงินจากลูกหนี้ก่อนถึงกำหนด ซึ่งคงไม่มีวิธีใดที่จะบังคับให้เขาจ่ายเงินคืนคุณก่อนถึงกำหนดได้ ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ธุรกิจต่างเจอวิกฤติไปหมด คนอื่นก็ไม่มีข้าวสารกรอกหม้อเช่นกัน แล้วเราจะทำอย่างไร ?
คุณอาจจะใช้สามวิธีทางการเงินดังนี้
- การกู้เงินโดยจำนำบัญชีลูกหนี้ ก็คือเอาบัญชีลูกหนี้ทั้งหมดไปจำนำไว้กับธนาคารเพื่อกู้ยืมเงินระยะสั้น หลังจากนั้นคุณก็ต้องชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่ธนาคารกำหนด
- แฟคตอริ่ง Factoring
คือการโอนสิทธิเรียกเก็บเงินจากบัญชีลูกหนี้การค้าไปให้ธนาคารหรือบริษัทแฟคตอริ่ง พวกเขาจะวิเคราะห์ความเสี่ยงของลูกหนี้และหักค่าใช้จ่ายบางส่วนก่อนมอบเงินสดให้กับคุณ ซึ่งแตกต่างจากการจำนำตรงที่ว่า หลังจากโอนสิทธิไปให้ธนาคารหรือบริษัทแฟคตอริ่งแล้ว เมื่อถึงกำหนดชำระเงิน ธนาคารหรือบริษัทจะจัดการเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้เอง
- ขายลดตราสารลูกหนี้
คือการเอาตราสารทางการเงินที่ยังไม่ถึงกำหนดอายุ (อาจจะเป็นเช็คหรือตั๋วแลกเงิน) ไปขายลดให้ธนาคาร และธนาคารจะจ่ายเงินสดให้คุณหลังจากหักดอกเบี้ยแล้ว
การทำแฟคตอริ่งหรือการขายลด จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากธนาคารและบริษัทแฟคตอริ่ง
การทำแฟคตอริ่งหรือขายลดตราสารลูกหนี้ หลายธนาคารมีเงื่อนไขค่อนข้างสูงในการตั้งเกณฑ์ตรวจสอบ ดังนั้น หน่วยงานกำกับดูแลธนาคารควรจะให้นโยบายพิเศษแก่ธนาคารในช่วงเวลาวิกฤตินี้ เพื่อลดเงื่อนไขในการให้เครดิตด้วย
การกู้หนี้โดยจำนำ, แฟคตอริ่ง และขายลดตราสารลูกหนี้ วัตถุประสงค์ของทั้งสามวิธีนี้ก็เพื่อ ได้รับกระแสเงินสดจากบัญชีลูกหนี้ให้เร็วที่สุดในระยะเวลาอันสั้น
แน่นอนว่าคุณจำเป็นต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการนี้
วิธีที่ห้าคือ เลื่อนระยะเวลาชำระเงินกับเจ้าหนี้
ค่าใช้จ่ายที่คุณต้องจ่ายให้กับผู้อื่นภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญา เช่น เจ้าหนี้การค้า ดอกเบี้ยธนาคาร ค่าเช่าบ้าน เงินเดือนพนักงาน ค่าประกันสังคม เป็นต้น ลองวิเคราะห์ออกมาดูว่า ค่าใช้จ่ายประเภทใดที่สามารถเลื่อนเวลาในการชำระได้
เวลานี้ หลายเมืองในประเทศจีนมีนโยบายช่วยเหลือ SME ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติ เช่น เลื่อนเวลาชำระภาษี ลดหรือยกเว้นค่าเช่าอาคาร ผ่อนชำระเงินประกันสังคม แบ่งเบาภาระค่าไฟ ค่าก๊าซให้กับวิสาหกิจ เลื่อนเวลาชำระคืนเงินกู้ เป็นต้น เชื่อว่าเมืองอื่น ๆน่าจะทยอยมีนโยบายบางอย่างนี้ออกมา คุณจะต้องติดตามได้อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ในส่วนของการจ่ายเงินเดือน ถ้าหากว่าพนักงานบางคนมีฐานะทางบ้านเหลือกินเหลือใช้ ไม่เร่งรีบใช้เงิน คุณอาจจะกำหนดนโยบายขึ้นมาว่า ถ้าหากพนักงานยอมเลื่อนเวลาการรับเงินเดือนออกไป คุณสามารถจ่ายดอกเบี้ยที่แน่นอนให้กับพนักงาน เช่น 12% ต่อปี ทำแบบนี้พนักงานก็ยินยอมที่จะยกเงินเดือนให้คุณไปจัดการบริหารการเงินแล้ว
สุดท้ายคือวิธีที่ 6 การลดต้นทุนคงที่ระยะสั้น (Discretionary Fixed Cost)
ตัวอย่างต้นทุนคงที่ระยะสั้นเช่น ค่าใช้จ่ายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ค่าใช้จ่ายทางการตลาด ค่าโฆษณา ค่าใช้จ่ายการอบรมพนักงาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้อยู่ในงบประมาณที่คุณได้พิจารณาล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ตอนต้นปี อันเรียกว่าต้นทุนคงที่ระยะสั้น ในวาระวิกฤตินี้ คุณสามารถลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ตามความเหมาะสม เพื่อได้มาซึ่งกระแสเงินสดมากขึ้น และช่วยให้คุณรอดพ้นจากวิกฤตระยะสั้นนี้ได้
การหาเงินทุนจากหุ้นส่วน การขายสินค้าค้างสต๊อคโดยเร็วที่สุด การรับเงินล่วงหน้าจากลูกค้า การเรียกเก็บชำระก่อนกำหนดจากลูกหนี้ การเลื่อนระยะเวลาชำระเงินให้กับเจ้าหนี้ และการลดต้นทุนคงที่ระยะสั้น ทั้ง 6 วิธีนี้ คือ การได้มาซึ่งกระแสเงินสดอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น
แน่นอน คุณจำเป็นต้องรู้ว่า วิธีการเหล่านี้ทำเพื่อที่จะได้รับเงินสดอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น และเพื่อความอยู่รอดในอีกหลายเดือนข้างหน้าที่คุณไม่มีรายได้ ทั้งหมดนี้ต้องยอมแลกด้วยค่าใช้จ่าย คุณคงต้องยอมเสียสละกำไร หรือต้องจ่ายค่าใช้จ่ายทางการเงินเพิ่มเติมที่เกิดขึ้น
แต่วิธีการทั้งหมดนี้ทำเพื่อช่วยชีวิต ช่วยชีวิตคุณเสียก่อน ช่วยชีวิตให้รอดกลับมา จากนั้นค่อยหาเวลาเพื่อรักษาโรคต่อไป
2.
รักษา
ถ้าจะรักษาชีวิต คุณต้องไปหาสาเหตุของโรค
คุณต้องคิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง เพราะเหตุใดพอมีสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ธุรกิจของคุณก็ล้มละลายตายไปอย่างง่ายดาย
เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะเจอวิกฤตในครั้งต่อไป คุณต้องสร้างกระแสเงินสดของคุณ ให้สามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงไปได้เป็นเวลา 3 – 6 เดือน
ในเวลานี้ คุณต้องวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนของคุณ ดูว่าคุณมีรายได้ทางไหนบ้าง รวมทั้งต้นทุนต่างๆด้วย
ต้องหาวิธีการเพิ่มรายได้ และลดต้นทุน ทำกำไรให้เพิ่มขึ้น
การเพิ่มรายได้ทำได้อย่างไร ?
คุณต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น สิ่งนี้คือหัวใจของธุรกิจของคุณ
แล้วจะลดต้นทุนได้อย่างไร ?
มองจากมุมมองด้านการเงิน มีอยู่วิธีหนึ่ง คือการเปลี่ยนต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) เป็นต้นทุนผันแปร(Variable Cost)
อะไรที่เรียกว่าต้นทุนคงที่ ?
ต้นทุนคงที่ นอกเหนือจากต้นทุนคงที่ระยะสั้น (Discretionary Fixed Cost) ที่ได้กล่าวในตอนต้นของบทความนี้แล้ว ยังรวมถึงต้นทุนคงที่ระยะยาว (Committed Fixed Cost)
ต้นทุนคงที่ระยะยาว คือต้นทุนที่คุณต้องจ่ายออกไปในแต่ละเดือนเพื่อให้ธุรกิจดำเนินกิจการต่อไปได้
เช่นค่าเช่า เงินเดือนพนักงาน ค่าเสื่อมสินทรัพย์ ดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น
อะไรที่เรียกว่าต้นทุนผันแปร (Variable Cost)
ต้นทุนผันแปร คือต้นทุนที่แปรผันไปตามขนาดธุรกิจของคุณ ขนาดธุรกิจยิ่งใหญ่ ต้นทุนผันแปรยิ่งสูง
เช่นต้นทุนธุรกรรม ค่าคอมมิสชั่นการขาย
มองจากทางด้านการเงิน ถ้าบริษัทหนึ่งมีต้นทุนคงที่ค่อนข้างสูง แสดงว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างสูง
ในสภาวะโรคระบาดที่เกิดขึ้นในตอนนี้ รายได้เกิดหายไปกระทันหัน ถ้าคุณมีต้นทุนคงที่ที่สูงมากๆ คุณก็คงลำบากมากที่จะยืนระยะอยู่ให้ได้นาน
ดังนั้น เพื่อที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบริษัท ให้สามารถรับความเสี่ยงยามวิกฤต คุณสามารถเปลี่ยนต้นทุนคงที่ให้เป็นต้นทุนผันแปรได้
ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างไร ?
คุณสามารถที่จะ out source ธุรกรรมบางอย่างได้
ยกตัวอย่างเช่น
ในตอนที่บริษัทอีคอมเมิร์ซ JD.com ขยายเข้าไปในเมืองชนบทห่างไกล ก็จำเป็นต้องพิจารณาถึงปัญหาด้านโลจีสติกส์ ถ้าสร้างระบบโลจีสติกส์เอง ก็ต้องมีพนักงานเป็นจำนวนมากที่ต้องดูแล รวมทั้งมีโกดัง ยานพาหนะเป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นต้นทุนคงที่
แต่ถ้ายกเอางานด้านโลจีสติกส์ out source ให้กับบริษัทขนส่งอื่นๆ การทำเช่นนี้จะทำให้ต้นทุนคงที่เปลี่ยนเป็นต้นทุนผันแปร ซึ่งการที่จะเปลี่ยนต้นทุนคงที่ให้เป็นต้นทุนผันแปรอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ต้องพิจารณาถึงขนาดของกิจการที่ทำด้วย
คงไม่สามารถกล่าวได้ว่าต้นทุนผันแปรทำให้ประหยัดเงินได้อย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าตอนที่ปริมาณธุรกิจของคุณยังไม่ได้ใหญ่โต การเลือก out source เปลี่ยนต้นทุนคงที่เป็นต้นทุนผันแปร ต้นทุนของคุณก็จะลดลงมาได้ ความสามรถในการต้านความเสี่ยงจากวิกฤติก็จะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
สำหรับกิจการภาคการผลิต ในห้วงเวลาแบบนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างโรงงานตัวเองเพื่อผลิตทั้งแม่พิมพ์ จนถึงอะไหล่ทุกชิ้น คุณสามารถที่จะเลือก out source ทำให้ได้ หรือ จัดซื้อจากภายนอกก็ได้ เพื่อเปลี่ยนต้นทุนคงที่ให้เป็นต้นทุนผันแปร
ในเวลาที่กิจการการค้าดี พวกเรามักจะไม่ค่อยใส่ใจถึงต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปร มักคิดว่าอะไรที่ฉันทำได้ฉันก็จะทำ ทำไมต้อง out source ให้คนอื่นมากินกำไรตัวเองด้วย
แต่ทว่าพอเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาก็จะพบได้ว่า ถ้าทำอะไรเองทั้งหมด ต้นทุนคงที่จะอยู่ในสัดส่วนที่สูงมาก ความสามารถในการต้านความเสี่ยงจากวิกฤติก็จะอ่อนแอลง
ดังนั้น มองจากมุมมองด้านการรักษา ในห้วงเวลาวิกฤตินี้ พวกเราสามารถใช้การเปลี่ยนต้นทุนคงที่ให้เป็นต้นทุนผันแปร นำมาลดต้นทุน เพิ่มกำไรได้
ในเวลาเดียวกันก็เพิ่มความแข็งแกร่งของความสามารถในการต้านความเสี่ยง หลีกเลี่ยงวิกฤติการเงินในอนาคตด้วย
รักษาโรคให้หายขาด ถึงจะป้องกันโรคไม่ให้กลับมาทรุดหนักเป็นอันตรายต่อชีวิตในภายหลัง
3.
บำรุง
การทำงานของหัวใจ ปอด และกล้ามเนื้อที่แข็งแรง จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีและอายุยืน
แล้วกับธุรกิจล่ะ ?
การจัดสรรสินทรัพย์มั่นคง สามารถทำให้กิจการดำเนินไปได้อีกยาวนาน
เพื่อพัฒนาความมั่นคงในระยะยาว คุณต้องวิเคราะห์งบดุลของคุณ ดูว่าเงินทุนสะสมของคุณมีเท่าไร หนี้สินมีเท่าไร
รีบเพิ่มเงินทุนสะสมให้มาก และลดหนี้สินลง
เคยมีคนวิจารณ์ คุณ Kazuo Inamori (ผู้ก่อตั้งบริษัท Kyocera ) ว่า เงินทุนของผู้ถือหุ้นบริษัทพวกคุณนั้นมีสัดส่วนสูงเกินไป ทำไมไม่ใช้อำนาจทางการเงินนี้มาสร้างกำไรให้กับผู้ถือหุ้นมากขึ้นล่ะ
คุณ Kazuo Inamori ตอบว่า ก็เพราะเป็นแบบนี้ไง บริษัทเราถึงผ่านวิกฤตการเงินไปได้ครั้งแล้วครั้งเล่า
ไม่ว่าเวลาไหนก็ตาม เราต้องจัดสรรสินทรัพย์ให้มั่นคงเสมอ ให้มีพลังเหลือเพียงพอที่นำตัวเราผ่านพ้นวิกฤตในวันหน้าไปได้
ไม่เพียงแค่เงินทุน ทุกบริษัทยังมีสินทรัพย์ที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือเครดิต
บริษัทของคุณมีเครดิตไหม ?
ในยามที่เจอสถานการณ์วิกฤติ มีคนพร้อมช่วยเหลือคุณหรือไม่
การจัดสรรสินทรัพย์ให้มั่นคง และการสะสมเครดิตไปทุกวี่ทุกวัน จะทำให้คุณเติบโตเป็นยักษ์ใหญ่ที่แข็งแรง
เวลายักษ์ใหญ่ข้ามแม่น้ำ ไม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์อะไร ก้าวลุยน้ำไปก็พอ
เวลายักษ์ใหญ่ต่อสู้ ไม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์อะไร ปะทะไปตรง ๆเลย
4.
วาจาทิ้งท้าย
ช่วยชีวิต รักษา และบำรุง
วันนี้พวกเราใช้สามวิธีนี้มาช่วยคุณในการวิเคราะห์ว่าธุรกิจ SME จะผ่านวิกฤติการเงินครั้งนี้ไปได้อย่างไร
ถึงแม้จะบอกว่าเป็นวิกฤติ แต่คุณก็ไม่ต้องกังวลเกินไป
ทำใจให้เป็นปกติ สามัคคีพลังทุกอย่างไว้เป็นหนึ่งเดียว ใส่ใจกับงานทุกเรื่องที่ทำได้ ณ ตอนนี้
คุณต้องมองโลกในแง่ดี แต่ก็ต้องเตรียมรับมือในยามเลวร้ายที่สุดด้วย
ในเวลานี้ เงินที่หามาได้ทุกบาททุกสตางค์ ทั้งหมดคือสิ่งพิเศษที่ได้รับเพิ่มเติมมา
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณอาจารย์ Yan Jing เป็นอย่างสูงที่ได้ให้คำแนะนำ
ขออวยพรให้คุณผ่านวิกฤตนี้ไปได้โดยเร็ว
และขออวยพรให้คุณได้ใช้วิกฤตครั้งนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงด้วย
…………………………………………………
แปลจากบทความของ สโมสร ibankclub ประเทศจีน
โดยทีมงาน Chinese Team สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์