เปิดประสบการณ์ดูงานในต่างแดนของนักศึกษาวิศวะฯ พีไอเอ็ม
ผ่านไปแล้วกับการฝึกอบรมและศึกษาดูงานในโครงการ AMEICC Endowed Course: AI and Machine Learning ที่พานักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม จำนวน 16 คนไปดูงานในบริษัทต่างๆ ได้แก่ Mitsubishi Electric Corporation Nagoya Works, The Association for Overseas Technical Cooperation and Sustainable Partnerships (AOTS), DeNA Co., Ltd., Line Corporation, CyberAgent, Inc., Panasonic Corporation และ The University of Tokyo ที่เมืองนาโกยะและโตเกียวประเทศญี่ปุ่น
น้องๆ ได้ประสบการณ์อะไรจากการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้บ้าง ตามไปฟังกันค่ะ
ส้ม – จิรัญญา อ้อนวอน
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม
ส้มเข้าอบรมตามที่สาขาวิชาได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบค่ะ โดยหัวข้ออบรม เช่น Machine Learning เนื้อหาจะเข้มข้นกว่าที่เรียน การอบรมทั้ง 6 ครั้งมีอาจารย์ของพีไอเอ็ม วิทยากรจากภายนอกทั้งคนไทยและญี่ปุ่นมาสอน เราต้องพยายามทำความเข้าใจภาษาอังกฤษและคีย์เวิร์ดต่างๆ หัวข้ออบรมที่ชอบมากที่สุดคือ Image Processing เพราะเป็นเรื่องที่มีพื้นฐานมาก่อน และเน้นให้ลงมือปฏิบัติโดยการเรียนทฤษฏีในช่วงเช้าต่อด้วยเวิร์คช้อปตอนบ่าย มาถึงขั้นตอนสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกคนไปญี่ปุ่น เขาจะดูว่าเราอยากไปมากน้อยแค่ไหน ถ้าไปแล้วจะนำความรู้มาใช้ประโยชน์อย่างไร พอรู้ว่าติด 1 ใน 16 คนสุดท้ายที่จะได้ไปญี่ปุ่นก็ดีใจและตื่นเต้นมาก เพราะเป็นการไปญี่ปุ่นครั้งแรก
กิจกรรมที่ชอบที่สุดคือการไปดูงานที่บริษัทมิตซูบิชิ เพราะจัดพื้นที่ได้ดีทั้งในส่วนโรงงานและบริเวณที่ใช้จัดประชุมสัมมนา สังเกตได้ว่าตามโซนต่างๆ นอกจากโปรแกรมเมอร์ที่เป็นคนแล้วแล้ว จะมีการนำเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติต่างๆ เข้ามาแทนที่แรงงาน สะท้อนการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่ได้จากการไปญี่ปุ่นครั้งนี้ นอกจากได้เห็นความเจริญก้าวหน้า การนำเทคโนโลยีอย่าง AI, IoT และอื่นๆ เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว อีกอย่างคือเรื่องการตรงต่อเวลาที่สามารถนำมาปรับใช้กับตัวเองทั้งด้านการเรียนและการทำงานได้ค่ะ
เพ้นท์ – ปฏิญญา ตัณฑวิวัฒน์
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ พีไอเอ็ม
ผมมีความสนใจด้าน Machine Learning อยู่แล้ว ตอนอบรมผมชอบที่โครงการเชิญวิทยากรจากภายนอกเข้ามาสอน ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจไม่ใช่ทฤษฎีเพียงอย่างเดียว เพราะเขาจะมีเวิร์คช้อปต่างๆ ให้ได้ทำ เช่น การเขียนโปรแกรม การใช้โปรแกรมต่างๆ ในการทำงาน
การไปญี่ปุ่นครั้งนี้แตกต่างจากการไปครั้งแรกที่ผมไปฝึกงาน เพราะทาง AOTS พาเราไปดูงานในบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ที่ไม่ได้เปิดให้คนนอกเข้าไปดูง่ายๆ ครับ เช่น Line, Cyber Agent, DNA และยังได้มีโอกาสไปดูห้องแล็บของ อ.ยามาซากิ ที่ ม.โตเกียว ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของญี่ปุ่น และได้พูดคุยกับนักศึกษา ป.โท เกี่ยวกับโปรเจคต์ที่พวกเขาทำอยู่ สร้างแรงบันดาลใจให้เรานำความรู้ที่ได้มาใช้ในการเรียนและฝึกงาน และกิจกรรม AI Walk Rally ทำให้ได้เห็นว่าที่ญี่ปุ่นนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันเยอะมาก ทั้งเรื่อง Machine Learning, Image Processing ฯลฯ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเลยก็ว่าได้