



คณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ กับการเรียนรูปแบบ Work-based Education คือเรียนทฤษฎีในห้องเรียนและฝึกปฏิบัติงานอย่างเข้มข้นในสถานประกอบการ ตั้งแต่ปี 1-4 นักศึกษาจะผ่านการฝึกงานในหลากหลายธุรกิจ และเข้าสู่สถานประกอบการที่ตัวเองชอบ หลายคนเลือกฝึกปฏิบัติงานในต่างประเทศ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของนักศึกษา เพราะระบบการทำงาน การใช้ชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม รวมถึงอาหาร และงานท้าทายให้ได้ทดลองทำ ที่ผ่านมาพีไอเอ็มได้ส่งนักศึกษาไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งนักศึกษาจะฝึกปฏิบัติงานหลากหลายด้าน ได้แก่ สายสำนักงาน เช่น MORI KOSAN Co.,Ltd. บริษัทจัดหางานให้นักศึกษาต่างชาติ นักศึกษาจะได้ฝึกออกบูธและจัดงานสัมมนา, สายงานการบริหารและการตลาด ฝึกปฏิบัติที่สหกรณ์การเกษตร จังหวัดชิสุโอกะ เรียนรู้การดำเนินธุรกิจชาเขียวตั้งแต่การเก็บเกี่ยว ผลิตและออกแบบรรจุภัณฑ์, สายงานบริการ ฝึกปฏิบัติงานต้อนรับส่วนหน้า งานห้องอาหารในโรงแรมและรีสอร์ตต่างๆ เช่น Hoshino Resort Tomamu, Sheraton Hokkaido Kiroro Resort สายงานวิศวกรรมฯ ฝึกปฏิบัติงานกับบริษัทออโตเมชั่น ในเมืองคิตะคิวชู 7 แห่งในความร่วมมือที่สนับสนุนโดย Bureau City of Kitakyushu และเข้าร่วมทำโปรเจกต์ที่ National Institute of Technology, Kitakyushu College



อาจารย์ทิพวรรณ อภิวันท์วรรัตน์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ได้ให้ข้อมูลว่า “เราทำความร่วมมือทั้งกับภาครัฐและเอกชนของญี่ปุ่นไว้มากมาย เริ่มแรกที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของญี่ปุ่น เช่น Okinawa International University เขาส่งนักศึกษามาฝึกสอนภาษาเด็กเรา จากนั้นก็ขยายไปยัง Chuo University เขาส่งนักศึกษามาเรียนที่เราด้านค้าปลีก การค้าสมัยใหม่ โดยมีเด็กพีไอเอ็มเป็นบัดดี้ทำแบบนี้อย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายปี ทางแถบคันไซเราทำ Triangle Program เราจับมือกับ Kansai University ผลัดกันไปแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน หรือ โครงการ 2+2 คือเรียนที่พีไอเอ็ม 2 ปี อีก 2 ปีไปเรียนที่ Teikyo University สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 3-4 รุ่น ทางตอนใต้มี เทศบาลคิตะคิวชูรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีไปฝึกงานในบริษัทด้านออโตเมชั่น ส่วนภาคเอกชน เช่น JTB (Thailand) Limited ก็แนะนำโรงแรมดีๆ ให้เด็กเราไปฝึกปฏิบัติงาน และ Yaskawa Electric Group ก็รับเด็กเราเข้าไปเรียนรู้งานเช่นกัน”


อาจารย์ทิพวรรณ กล่าวเสริมอีกว่า นักศึกษา เปรียบเสมือนผลิตผลของพีไอเอ็ม ที่ต้องมีคุณภาพและสามารถแสดงศักยภาพของตัวเองได้ เราจึงคัดสรรเครือข่ายที่เหมาะสมกับคนคุณภาพที่เราผลิต องค์กรหลายแห่งเขาเลือกพีไอเอ็มเหตุผลเพราะว่ารูปแบบการเรียนแบบ Work – based Education เป็นจุดที่สร้างให้เด็กเราเข้มแข็ง ทำงานเป็น เรียนเป็น คิดเป็น เด่นภาษา ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ชื่อของพีไอเอ็มกำลังเป็นที่จับตามองของภาคธุรกิจในญี่ปุ่น เขาสงสัยว่าเราสร้างเด็กได้อย่างไรในระยะเวลา 4 ปี ที่ทำงานได้มากขนาดนี้

ด้าน ดร.อุษณีย์ กุลินทรประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิเทศสัมพันธ์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม)กล่าวว่า “จากผลสำเร็จเมื่อนักศึกษาพีไอเอ็มได้ก้าวสู่การฝึกงานในต่างประเทศ เป็นบทพิสูจน์คุณภาพโมเดล Work-based Education ได้ชัดเจนมากขึ้นว่าได้รับจากการยอมรับที่ดีมากจากสถานประกอบการอย่างเช่นในประเทศญี่ปุ่น เราส่งนักศึกษาไปเรียนกับโรงเรียนสอนภาษาเพื่อเพิ่มทักษะทางภาษา ผสานไปกับการเข้าฝึกปฏิบัติงานด้านการบริการเพื่อเพิ่มความเข้าใจ หัวใจของงานบริการที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งผสมผสานอยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน คือการบริการด้วยจิตวิญญาณแบบโอะโมะเตนาชิ (OMOTENASHI) การเอาจริงเอาจัง โดยญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ แล้วนำประสบการณ์กลับมาประยุกต์ใช้กับความมีไมตรีจิตในการบริการด้วยใจสไตล์คนไทย เพื่อพัฒนาให้ตัวเองเติบโตมากขึ้น จุดนี้จึงเป็นโอกาสที่พีไอเอ็มไม่อยู่นิ่ง เดินหน้าเต็มกำลังขยายเครือข่ายสถานศึกษา และสถานประกอบการเชิงอุตสาหกรรมภาคบริการในระดับมาตรฐาน ถึงระดับเวิลด์ ลักชัวรี่ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับนักศึกษาของเรา”


ปัจจุบันพีไอเอ็มและเครือข่ายทางการศึกษาในญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะส่งนักศึกษาไปฝึกปฏิบัติงานแล้ว พีไอเอ็มยังเปิดบ้านต้อนรับนักศึกษาจากทุกภาคของญี่ปุ่นกว่า 400 คนต่อปีมาแลกเปลี่ยนระยะสั้น ได้เรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจในประเทศไทย เรียนรู้วัฒนธรรมไทย เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และศึกษาดูงานกับสถานประกอบการที่เป็นคู่ค้าของซีพี ในขณะเดียวกันนักศึกษาพีไอเอ็มมีโอกาสได้รับทุนแลกเปลี่ยน ซึ่งมีการทำความร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ Teikyo University ผ่าน Teikyo Asia Exchange Program (TAEP) รับนักศึกษาจากพีไอเอ็มเรียนต่อระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท และโครงการแลกเปลี่ยนระยะสั้นที่ Iwate University เป็นเวลา 1 ปี โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก JASSO


ทั้งนี้ นักศึกษาที่ได้รับโอกาสไปเรียนหรือฝึกปฏิบัติงานต่างแดน จะได้ฝึกฝนการใช้ภาษากับเจ้าของภาษา แลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมไทยกับชาวต่างชาติ ได้ดูแลรับผิดชอบตนเอง ได้ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบขอบเขตของประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ความท้าทายในการปรับตัว และเรียนรู้การดำรงชีวิตที่แตกต่างไปจากการดำรงชีวิตในประเทศไทย เมื่อได้เจอสถานการณ์จริง ปัญหาจริง สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการปรับตัวให้ทันยุคสมัย อีกทั้งยังเสริมสร้างแนวคิด ความคิดใหม่ๆ เพื่อต่อยอดสานฝันให้ตนเองในอนาคต ซึ่งในเร็วๆ นี้ นักศึกษาพีไอเอ็มอีกกว่า 30 คนกำลังเตรียมตัวเดินไปสู่ความฝัน เติมประสบการณ์ ณ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพในระดับสากล
CR. Thairath Online https://www.thairath.co.th/news/society/1621895