อีกก้าวสำคัญของนักศึกษาพยาบาล หลักสูตร 2.5 ปี คือการฝึกปฏิบัติจริงในวอร์ดที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ไม่เพียงได้เรียนรู้และฝึกทักษะการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด แต่ยังได้ร่วมสร้างสรรค์โปรเจกต์พัฒนาคุณภาพการบริการพยาบาลในวอร์ดของตนเอง ประสบการณ์ครั้งนี้จะช่วยปูทางสู่ความเป็นมืออาชีพ พร้อมก้าวเข้าสู่วิชาชีพพยาบาลอย่างมั่นใจ!
เรียนพยาบาลหลักสูตรวิชาชีพ 2.5 ปี จบปริญญาตรีสาขาไหนก็สมัครได้ กับคณะพยาบาลศาสตร์ พีไอเอ็ม
สมัครวันนี้รับทุน PIM Advance Nursing Scholarship ทันที! มูลค่า 150,000 บาท
รศ.ดร.อัจฉรา สุคนธสรรพ์
คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์
“การฝึกปฎิบัติงานของนักศึกษาหลักสูตร 2.5 ปี มีการบูรณาการรายวิชาที่สำคัญ 3 วิชา ได้แก่ วิชาระเบียบวิธีวิจัย นักศึกษาจะได้เรียนรู้ทฤษฎีการวิจัยเบื้องต้นและลงมือทำวิจัยเล็ก ๆ ที่เน้นการพัฒนาคุณภาพการบริการ ซึ่งในวงการพยาบาลเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติ (Implementation Research) เพื่อนำไปสู่การพัฒนางานในสถานพยาบาล
สำหรับวิชาฝึกปฏิบัติรวบยอด และวิชาฝึกปฏิบัติเพื่อเตรียมสู่วิชาชีพ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง โดยให้นักศึกษามีประสบการณ์การทำงานในหอผู้ป่วยต่าง ๆ เช่น ฝึกการดูแลผู้ป่วยในช่วงเช้า บ่าย ดึก พร้อมกับมองหาโอกาสพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่พบในหน่วยงานนั้น โดยมีการร่วมมือกับหัวหน้าพยาบาลในแต่ละหอผู้ป่วย เพื่อให้นักศึกษาได้รับโอกาสในการพัฒนาคุณภาพการบริการที่สามารถนำไปใช้ได้จริง นอกจากนี้ยังมีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้าพยาบาลเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงและสามารถนำเสนอผลงานที่พัฒนาขึ้นได้ ระหว่างการฝึกปฏิบัติงานนักศึกษาจะอยู่ในความดูแลของคณาจารย์เป็นหลัก โดยมีพยาบาลวิชาชีพประจำแหล่งฝึกร่วมให้การดูแล
การเรียนการสอนของคณะพยาบาลศาสตร์ เราเน้น Active Learning ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ มีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เริ่มจากการเรียวิชากายวิภาคพยาธิสรีรวิทยา ที่มีการเรียนรู้ด้วยตนเองในห้องปฏิบัติการโดยใช้โปรแกรม Complete Anatomy ซึ่งเป็น Advanced 3D Anatomy Platform กำหนดให้ผู้เรียนใช้เทคโนโลยีในการสร้างงานตามที่มอบหมาย มีการติดต่อสื่อสารและส่งงานผ่านระบบสารสนเทศ ในการสร้างทักษะทางการพยาบาลเฉพาะเรื่อง คณะฯได้ใช้ห้องปฏิบัติการพยาบาล ที่มีหุ่น วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ทันสมัยเสมือนจริงที่หลากหลาย รวมถึงแว่นเสมือนจริง (Virtual Reality) ที่ให้ประสบการณ์เสมือนจริงในการเจาะเลือด และทำคลอด นอกจากนั้นในการฝึกการตัดสินใจและการบริหารจัดการผู้ป่วยในสถานการณ์จำลองเสมือนจริง คณะฯ ใช้ห้องปฏิบัติการพยาบาลเสมือนจริง (PIM Advanced Nursing Lab) ที่มีการใช้หุ่นที่สามารถตอบสนองการปฏิบัติได้เสมือนจริง มีการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ในการฝึกทั้งรายบุคคล และรายกลุ่มเพื่อเรียนรู้การทำงานเป็นทีม”
โครงการ : สื่อการสอนการจัดการอาการท้องผูกในผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบประสาท
ประสบการณ์บนวอร์ด ได้ฝึกงานเหมือนเป็น New Nurse ดูแลผู้ป่วยทุกรูปแบบ การประเมินระบบประสาทผู้ป่วยในทุกเช้า และทุก 1 ชั่วโมงตลอดเวรเช้า บ่าย ดึกเนื่องจากอาการคนไข้วิกฤตเปลี่ยนได้ทุกนาที ได้ร่วมวิจัยโดยทำการวิจัยโดยใช้เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือแบบสำรวจปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะท้องผูกของผู้ป่วยทางระบบประสาท
วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เพื่อให้ผู้ดูแลมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะท้องผูกในผู้ป่วยทางระบบประสาท เพื่อให้ผู้ดูแลมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันภาวะท้องผูกในผู้ป่วยทางระบบประสาท โดยจัดทำทั้งแผนการสอนสุขศึกษา สื่อการจัดการภาวะท้องผูก สื่อการเคลื่อนไหวร่างกาย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพทางการพยาบาล สามารถสแกนและพรินต์ นำไปใช้กับผู้ป่วยได้จริง ปรับให้เข้ากับบริบทที่ญาติสามารถทำกับผู้ป่วยเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านได้
โครงการ : คู่มือการสวนปัสสาวะทิ้งด้วยตนเองแบบสะอาด สำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแล
จากข้อมูลในหอผู้ป่วย พบว่ามีผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะด้วยสาเหตุการติดเชื้อซ้ำของระบบทางเดินปัสสาวะ ส่งมาปรึกษาแผนกศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะเพื่อพิจารณาการรักษาด้วยการสวนปัสสาวะทิ้งด้วยตนเองแบบสะอาด Self-Clean Intermittent Catheterization (SCIC) โดยส่วนใหญ่เมื่อได้รับการรักษาไปสักระยะ มักกลับมารักษาด้วยการคาสายสวนปัสสาวะ และนัดเปลี่ยนสายทุกเดือน เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถปฏิบัติการสวนปัสสาวะทิ้งด้วยตนเองได้
จึงได้จัดทำคู่มือการสวนปัสสาวะทิ้งด้วยตนเองแบบสะอาดในผู้หญิงและในผู้ชาย สำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแล และจัดทำสื่อวิดีโอสอนการสวนปัสสาวะทิ้งด้วยตนเองแบบสะอาดสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแล ต่อยอดจากคู่มือที่มีอยู่แล้ว ปรับเปลี่ยนให้เข้าใจง่ายขึ้น เพิ่มสื่อวิดีโอเพื่อให้ดูง่าย สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและสะดวกขึ้น ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดลิ้งค์เข้าสู่วิดีโอใน YouTube สามารถดูซ้ำเมื่อไหร่ก็ได้ และสามารถปริ้นออกมา ลดภาะงานของพี่ๆพยาบาล และนำผลงานไปใช้ต่อกับคนไข้ได้
โครงการ : พัฒนาแนวปฎิบัติการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะจากการคาสายสวนปัสสาวะ
จากการฝึกปฎิบัติงาน พบปัญหาการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะจากการคาสายสวนปัสสาวะ ส่งผลกระทบงานพัฒนาคุณภาพพยาบาล ได้ศึกษาสถานการณ์ปัญหาของหอผู้ป่วย ทบทวนแนวปฏิบัติการป้องกันการติดเชื้อจากการคาสายสวนปัสสาวะจากหลักฐานเชิงประจักษ์ พัฒนาแนวทางป้องกันการติดเชื้อจากการคาสายสวนปัสสาวะ นำเสนอแนวทางการป้องกันการติดเชื้อจากการคาสายสวนปัสสาวะแก่หัวหน้าหอผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติ แก้ไขแนวทางปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ และนำเสนอแนวทางการป้องกันแก่หัวหน้าหอผู้ป่วย
การพัฒนาแนวปฎิบัติการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะจากการคาสายสวนปัสสาวะ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรผู้รับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการคาสายสวนปัสสาวะทุกราย ปฏิบัติโดยใช้มาตรฐานเดียวกันในการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลของระบบทางเดินปัสสาวะ ลดอัตราการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะที่สัมพันธ์กับการใส่สายสวนปัสสาวะ
โครงการ : พัฒนาแนวทางการปฎิบัติการให้เลือด
ประสบการณ์บนวอร์ด ได้ให้การพยาบาลช่วยพี่ๆ ในวอร์ด เช่น การรับเวร ส่งเวร จากสถานการณ์ปัญหาเด็กป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียเยอะ มีการมารับเลือดในทุกวัน แต่มีพยาบาลเพียงคนเดียวต่อเด็ก 10 คน เคยเกิดอุบัติการณ์ให้เลือดผิดคน และเด็กได้รับผลกระทบจากการให้เลือด
จึงได้พัฒนาแนวทางการปฎิบัติการให้เลือด นำมาปรับใช้ที่วอร์ด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับเลือดและส่วนประกอบของเลือดถูกต้องตามแผนการรักษาและปลอดภัย เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับเลือดและส่วนประกอบของเลือด เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับพยาบาลในการให้เลือดและส่วนประกอบของเลือดอย่างเป็นระบบ และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
โครงการ : แนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ
จากสถิติการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (DVT) ในหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกหญิงและเด็ก แม้ว่าอัตราการเกิด DVT จะน้อย แต่ก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงและอันตราย ทำให้เราเห็นความสำคัญของปัญหาและสนใจในเรื่องนี้
จึงได้จัดทำแนวปฎิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ โดยจัดทำแผ่นพับและสื่อวิดีโอ และมีการให้ความรู้ตามแผ่นพับกับผู้ป่วยในวอร์ด และสาธิตผู้ป่วยในการปฎิบัติกับผู้ป่วยจริงในวอร์ด นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเองแล้ว ยังเป็นการช่วยลดระยะเวลาของพี่พยาบาลอีกด้วย
โครงการ : นวัตกรรมนาฬิกาปลุกลดเสี่ยง เลี่ยงแผลกดทับ
ผู้ป่วยในอายุรกรรมชายส่วนมากเป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง แผลกดทับเป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ขณะที่ผู้ดูแลหลายรายก็ไม่รู้ว่าแผลกดทับคืออะไร ส่งผลให้มีการดูแลผิดวิธีและอาจทำให้เกิดแผลกดทับได้
จึงได้ศึกษาค้นคว้าจากบทความวิจัยต่างๆ มาพัฒนาต่อและคิดค้นเป็นนวัตกรรมนาฬิกาปลุกลดเสี่ยง เลี่ยงแผลกดทับ เป็นนาฬิกาบอกเวลาการพลิกตัวตามเข็มนาฬิกา ตั้งปลุกทุก 2 ชั่วโมง พอนาฬิกาดัง ญาติมาพลิกตัวผู้ป่วยตามท่าที่ตั้งไว้ ช่วยให้ญาติสามารถพลิกตัวผู้ป่วยตามรูปภาพได้อย่างง่ายดาย ป้องกันการลืม มีความสะดวก ใช้งานง่าย สามารถลดการเกิดแผลกดทับได้ พร้อมแผ่นพับความรู้ “ป้องกันแผลกดทับ” มีเนื้อหาเกี่ยวกับรายละเอียดของแผลกดทับ การดูแลแผลกดทับ ได้นำไปแจกจ่ายให้ญาติผู้ป่วย และยังมีวิดีโอการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านอีกด้วย