สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ พีไอเอ็ม รวมทีมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีม EM (Elephas Maximus) คว้าชัย 1 ใน 6 ทีมสุดท้าย จาก โครงการ School Satellite Competition 2024 ปี 2 พร้อมรับเงินสนับสนุน 25,000 บาท จัดโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จากผู้เข้าแข่งขันที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ สถานศึกษาจากทั่วประเทศสนใจสมัครเข้าร่วมแข่งขันกว่า 100 ทีม
ทีม EM (Elephas Maximus) นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมแล้วกับโอกาสสำคัญนี้ได้สิทธิเข้าร่วมรับการถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาดาวเทียมในรูปแบบ online และลงมือปฏิบัติจริง Workshop & Training แต่ละทีมจะประกอบและทดสอบดาวเทียม School Satellite Engineering model จำนวน 1 ดวง/ทีม และคัดเลือกตัวแทนแต่ละตำแหน่งจาก 6 ทีมเพื่อเข้าร่วมประกอบและทดสอบดาวเทียม Cubesat Filght Model จำนวน 1 ดวงพร้อมนำส่งดาวเทียมจริงร่วมกับทีมวิศวกร GISTDA ต่อไป
สมาชิกทีม EM (Elephas Maximus)
ศุภโชติ เบ้าชาลี (คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์)
พงศภัค คงแจ (คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์)
ณภัทร เหมทานนท์ (คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย )
บุญชรัสมิ์ น้อยประเสริฐ (คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย )
กฤษกร เพ็งอินทร์ (คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย )
ที่ปรึกษา : ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ อาจารย์ประจำ สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
โครงการ School Satellite Competition 2024 ปี 2 เป็นความตั้งใจของทาง GISTDA ที่ต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถให้กับเยาวชน ผ่านการถ่ายทอดจากวิศวกรดาวเทียมที่สร้างดาวเทียม THEOS-2A กิจกรรมนี้เพื่อให้กลุ่มนักเรียนในระดับมัธยมปลายและอุดมศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคิดออกแบบและสร้างดาวเทียมขนาดเล็กด้วยตนเองซึ่งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและเปิดโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีมากกว่าในห้องเรียนสู่การพัฒนาบุคคลากรพร้อมทำงานในภาคอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคตและที่สำคัญเยาวชนจะได้รู้จักถึงกระบวนการคิด การออกแบบดาวเทียมให้เหมาะสมกับภารกิจของตนเองที่ได้คิดไว้เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ
โจทย์ในค่าย School Satellite Competition 2024 ปี 2 นี้ได้ให้ผู้เข้าแข่งขันนำเสนอผลงานไอเดียสุดเจ๋งต่อคณะกรรมการในการ Pitching เพื่อคัดเลือกทีมเข้าสู่รอบ 6 ทีมสุดท้าย ตามโจทย์ที่ทาง GISTDA กำหนดภายใต้แนวคิด Global Environmental Surveillance โดยใช้ดาวเทียม Cubesat ซึ่งเป็นการติดตามสภาพสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เป็นภารกิจการสังเกตการณ์ วิเคราะห์ ติดตามการเปลี่ยนแปลงหรือประเมินสถานะของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เพื่อสร้างความเข้าใจและเพิ่มความสามารถในการจัดการและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลผลงาน
Youtube / gistdaspace
School Satellite 2024 | ทีม : EM Elephas Maximus [รอบ18ทีม]
การพัฒนาระบบโครงสร้างดาวเทียมสำรวจขนาดเล็ก ซึ่งเรียกว่า Cubesat ขนาด 3U (สามยูนิต) ดาวเทียมนี้จะโคจรในวงโคจร LEO (Low Earth Orbit) หรือวงโคจรต่ำของโลก โดยมีเป้าหมายหลักในการถ่ายภาพและสำรวจผืนป่าในประเทศไทย การถ่ายภาพผืนป่าไทยจะช่วยให้การจัดการและอนุรักษ์ป่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ภารกิจนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการสร้างและพัฒนาระบบบริหารจัดการป่าอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยในการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรป่าไม้ในประเทศการพัฒนาดาวเทียม Cubesat ขนาด 3U นี้ ไม่เพียงแต่เป็นการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอวกาศ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ทีม EM (Elephas Maximus) ขอร่วมแสดงความยินดีกับทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ได้แก่
ทีมสัปปะรด จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ทีม CUBESIT NONG CUBESAT จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ฝ่ายมัธยม)
ทีมวิศวะขอบตาดำ จากโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว
ทีมVanillaPudding จาก โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
ทีมสาหร่ายทะเล ลดความเกเรของชายหาด(Naughty Seaweed) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง