เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานใน พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ “โครงการเร่งรัดและขยายผลการจัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง CWIE + EEC Model Type A (CWIE+EEC Model Type A Master Class) ในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยในนามของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร. สมโรตม์ โกมลวนิช รองอธิการบดี ส่วนวิชาการและวิจัย ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการในนามตัวแทนท่านอธิการบดี พร้อมกันนี้ภายในพิธี โดย ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายสมบัติ รุ่งรัศมี ผู้อำนวยการกองยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง อว. คณะกรรมการบริหารโครงการฯ คณะทำงานดำเนินงานโครงการฯ ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว.
นายเพิ่มสุข กล่าวว่า “สำนักงานปลัดกระทรวง อว. มีพันธกิจสำคัญในการพัฒนากำลังคนให้มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ทางวิชาการและทักษะในการดำรงชีวิต รวมถึงทักษะวิชาชีพที่มุ่งเน้นสมรรถนะ และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างทางเลือก สร้างโอกาส สนับสนุนเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนขับเคลื่อนผลักดันงานตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สถาบันอุดมศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นแหล่งผลิตและพัฒนากำลังคนคุณภาพสู่ตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม สถาบันอุดมศึกษาไม่สามารถดำเนินภารกิจดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์ประเทศในสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในปัจจุบันได้เพียงลำพัง จึงต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการร่วมกันกำหนดทักษะของบัณฑิตที่ตรงกับความต้องการ
สถาบันอุดมศึกษาต้องจัดคนและเร่งพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต โดย สำนักงานปลัดกระทรวง อว. จะเป็นตัวกลางในการประสานจับคู่ความร่วมมือระหว่างความต้องการของภาคเอกชนและสถานประกอบการกับการพัฒนากำลังคนของภาคการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ.2562 มาตรา 35 ซึ่งระบุว่า สถาบันอุดมศึกษาพึงสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติงานจริง และพัฒนาความรู้ ทักษะสมรรรถนะและคุณลักษณะอื่นให้สอดดคล้องกับความต้องการของประเทศ ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาจึงควรมีหลักสูตรที่มีความร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง อันเป็นแนวทางการจัดการศึกษาแบบเน้นประสบการณ์ (Experiential Learning) ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาทักษะและความพร้อมของผู้สำเร็จการศึกษาให้สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากห้องเรียนเข้ากับบริบทของการทำงานจริง ซึ่งถือเป็นแนวทางจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาแบบใหม่ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความต้องการจากตลาดแรงงาน ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน พร้อมให้ผู้เรียนสามารถเรียนและทำงานไปพร้อมกันได้ สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” ของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. โดย สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ส่งเสริมการจัดการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือ CWIE ซึ่งสอดคล้องกับการจัดการศึกษาของ EEC ในรูปแบบ EEC Model Type A โดยการจัดการศึกษา ทั้ง 2 รูปแบบ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ การมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพและสมรรถนะสูง สามารถปฏิบัติงานได้จริง ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะสถานประกอบการในเขตพื้นที่ EEC ที่เป็นพื้นพื้นที่การลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญของรัฐบาล และมีความต้องการกำลังคนระดับอุดมศึกษาในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวนมาก เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ
การลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการในวันนี้ จึงเป็นทั้งสัญลักษณ์และพันธะสัญญา (Commitment) ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะร่วมกันผนึกกำลัง ผลักดัน และช่วยกันส่งเสริมการศึกษาในรูปแบบ Demand Driven Education เพื่อให้เกิดการขยายผลไปในวงกว้างและกระจายไปยังทุกกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งขยายภาคีความร่วมมือไปยังภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานประกอบการอื่นๆ ทั้งภายในพื้นที่เขต EEC และพื้นที่ต่างๆ ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ” ปลัดกระทรวง อว. กล่าว
โครงการ CWIE + EEC Model Type A ที่สถาบันฯ ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมกับ สป.อว. มีดังนี้
1. Mentors ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการฯ โดย
อ.ภัทรนิษฐ์ ศรีบุรีรักษ์ หัวหน้าสาขา สาขาการจัดการธุรกิจอาหาร คณะการจัดการธุรกิจอาหาร
อ.ภักดี ใจซื่อ อาจารย์ประจำ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการและการผลิตอัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
2. อาจารย์นิเทศCWIE ที่กระทรวง อว. ยอมรับในคุณสมบัติและสมรรถนะการเป็นอาจารย์นิเทศ CWIE โดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จุฑาทิพย์ ลีลาธนาพิพัฒน์ อาจารย์ประจำ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการและการผลิตอัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
อ.ภักดี ใจซื่อ อาจารย์ประจำ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการและการผลิตอัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
โครงการเร่งรัดและขยายผลการจัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง CWIE+EEC Model Type A (CWIE+EEC Model Type A Master Class) ในสถาบันอุดมศึกษา เป็นความร่วมมือของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา กับสถาบันอุดมศึกษา 18 แห่ง ได้แก่
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล
มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
มหาวิทยาลัยบูรพา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
มหาวิทยาลัยศิลปากร
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
มหาวิทยาลัยพะเยา
มหาวิทยาลัยสยาม
มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
มหาวิทยาลัยศรีปทุม
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
ทั้งนี้เพื่อร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนตามแนวทางนโยบาย การส่งเสริมการจัดการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษา และการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือ CWIE โดยสอดคล้องกับการจัดการศึกษาโครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในรูปแบบ EEC Model Type A ซึ่งการจัดการศึกษา ทั้ง 2 รูปแบบเป็นการมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพ และสมรรถนะสูง สามารถปฏิบัติงานได้จริง ตอบสนองความต้องการของตลาดงาน โดยเฉพาะสถานประกอบการในเขตพื้นที่ EEC ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่การลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญ และมีความต้องการกำลังคนระดับอุดมศึกษาในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวนมาก พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้งเป็นการเพิ่มจำนวนหลักสูตรและส่งเสริมนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการตามแนวทางดังกล่าวต่อไป
ที่มา :
กลุ่มสื่อสารองค์กร สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สำนักส่งเสริมวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์