คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานแถลงข่าว โครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาในการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัดอนุภาคนิวทริโนจากวัตถุนอกระบบสุริยะ โดยมีผู้บริหารและคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม ร่วมงานนำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดี ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ดร.วิรินทร์ สนธิ์เศรษฐี อาจารย์ประจำ และ ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ อาจารย์ประจำ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า (ถนนโยธี) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ตามพระราชดำริฯเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2564 ประกอบด้วยโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนและโครงการวิจัย โครงการนี้ดำเนินการสนองพระราชดำริโดย คณะกรรมการความร่วมมือการวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์ประเทศไทย (Thai-IceCube) ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์เป็นประธานและผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วราภรณ์ นันทิยกุล ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเลขานุการ การทำงานเป็นลักษณะบูรณาการหน่วยงานในประเทศ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หน่วยงานในต่างประเทศ ได้แก่ สถานีตรวจวัดนิวทริโนนิวทริโนไอซ์คิวบ์ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันเป็นผู้บริหาร ส่วนโครงการสำรวจตัดข้ามละติจูดของประเทศไทยเองเป็นการตรวจวัดรังสีคอสมิกจากท้องฟ้า ดำเนินการตั้งแต่พ.ศ. 2561 ต่อมาในปี พ.ศ. 2566 ได้ร่วมมือกับกลุ่มวิจัยของสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ มหาวิทยาลัยชอนนัม (Chonnam National University), สถาบันดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศเกาหลี (KASI : Korea Astronomy and Space Science Institute) และ สถาบันวิจัยขั้วโลกเกาหลี (KOPRI : Korea Polar Research Institute) เพื่ออาศัยการเดินทางของเรือตัดน้ำแข็งของเกาหลีบรรทุกอุปกรณ์ตรวจวัดชื่อ “ช้างแวน” ในการตรวจวัดรังสีคอสมิกที่ละติจูดต่างๆ ขณะเดินทางไปทวีปแอนตาร์กติก
ในปี พ.ศ. 2566 นี้ โครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ตามพระราชดำริฯ จะส่งนักวิจัยไทยร่วมเดินทาง 2 คนไปทำงานที่แอนตาร์กติกคือ เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนางสาวอัจฉราภรณ์ ผักหวาน นักวิจัยกลุ่มวิจัยรังสีคอสมิกและอนุภาคพลังงานสูง มหาวิทยาลัยมหิดล เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดมได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 23 นักวิจัยร่วมปฏิบัติงานกับกลุ่มวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์ระดับโลกกว่า 350 คน จาก 14 ประเทศ 58 สถาบัน ภารกิจสำคัญคือการขุดเจาะน้ำแข็ง ณ สถานีตรวจวัดนิวทริโนไอซ์คิวบ์ใจกลางทวีปแอนตาร์กติก สูงประมาณ 2,835 เมตร จากระดับน้ำทะเล (สูงกว่ายอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ราว 300 เมตร) เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม จะเป็นนักวิจัยคนแรกของประเทศไทยที่ได้เดินทางไปถึงบริเวณขั้วโลกใต้ ณ ละติจูด 90 องศาใต้ ใจกลางทวีปแอนตาร์กติก
โครงการทั้งหลายดังกล่าวข้างต้นเป็นการพัฒนาและเตรียมความพร้อมกำลังคนของประเทศในการก้าวเข้าสู่วิทยาศาสตร์และและเทคโนโลยีแนวหน้า (frontier science and technology) ยกระดับประเทศซึ่งจะนำประเทศไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้ในอนาคต
คณะนักวิจัยรวมทั้งหน่วยงานร่วมโครงการทั้งหลายรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล ทรงสนับสนุนการดำเนินงานผ่านมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ท่านทรงเป็นประธาน
นอกจากนี้โครงการวิจัยยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนหน่วยงานภาคีความร่วมมือวิจัย อันได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม)
ทางด้านพีไอเอ็ม โดย ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และ ดร.วิรินทร์ สนธิ์เศรษฐี อาจารย์ประจำคณะ ได้เข้าร่วมเครือข่ายโครงการการวิจัยดังกล่าว เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศ และเป็นการเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอีกด้วย