
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล รองอธิการบดี ส่วนวิทยาศาสตร์สุขภาพ รักษาการคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ในฐานะผู้อำนวยการแผนงานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ร่วมกับผู้อำนวยการแผนงานการท่องเที่ยว ธรรมชาติและคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ แผนงานด้านนโยบายและแผนงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งได้รับทุนสรับสนุนจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้จัดการประชุมสรุปผลโครงการวิจัยปี 2566 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมรวม 150 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และนักวิจัย

งานดังกล่าวมีจุดประสงค์นำเสนอโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทย พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้อง โอกาสนี้ ศ.เกียรติคุณ ดร.วิภาดา ในฐานะผู้อํานวยการแผนงานการบริหารจัดการแผนงานการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง ปี 2566 ซึ่งเป็น 1 ใน 4 กลุ่มแผนงานที่กำลังดำเนินงาน ได้นำเสนอถึงการวิเคราะห์ การบูรณาการ รวมถึงการติดตามโครงการวิจัยภายใต้แผนงานฯ จำนวน 10 โครงการ ซึ่งจากการวิเคราะห์วิจัยพบว่าผลการดำเนินงานส่วนใหญ่เข้าได้กับมิติองค์ประกอบที่สามารถแข่งขันเพื่อเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้

นอกจากนี้ยังมีโครงการวิจัยย่อยภายใต้แผนงาน 2 โครงการ คือ โครงการวิจัยย่อยที่ 1 การประเมินผลผลิตก่อนดำเนินการวิจัยของโครงการวิจัย ภายใต้แผนงานการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง และ โครงการวิจัยย่อยที่ 2 การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง โดยมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้เป็นที่น่าจับตามองและได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ดึงดูดคนทั่วโลกท่องเที่ยวได้รับสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ ขณะเดียวกันยังเสริมสร้างศักยภาพ ความพร้อม เติมเต็มทุกมิติแก่ผู้ประกอบการให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางจนนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ทางด้านประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการนั้น ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างมีคุณภาพ สามารถนำไปใช้กับสมาคม สมาพันธ์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนำแพลตฟอร์มไปปรับใช้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือนำแนวทางไปใช้กับการท่องเที่ยวด้านอื่นๆ เช่น กีฬา สปา อาหาร รวมถึงการนำข้อมูลใช้ตัดสินใจวางแผนและปรับปรุงให้สอดรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ตรงกับความคาดหวังของนักท่องเที่ยว จึงก่อให้เกิดการเติบทางเศรษฐกิจ ประเทศ ชุมชม สังคม สิ่งแวดล้อม และส่งผลต่อความเชื่อมั่นและเป็นที่ยอมรับให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างยั่งยืน

