คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ ศูนย์เครือข่ายเทคโนโลยีและนวัตกรรม สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) จัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อเรื่อง “สรรสร้างวิศวกรสู่โลกยุคใหม่ด้วย Work-based Education” (Global Engineer Creation Methodology by WBE) เนื่องในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่15 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างบุคลากรด้านวิศวกรรมอย่างมีคุณภาพ โดยได้รับเกียรติจาก คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), ศาสตราจารย์ ดร.เมธี เวชารัตนา ศาสตราจารย์ประจำ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม แห่ง New Jersey Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา ประธานสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (The Association of Thai Professionals in America and Canada : ATPAC), ดร.ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ รองประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ประเทศไทย บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด, รองศาสตราจารย์ ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ที่ปรึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม และ รองศาสตราจารย์ ดร. พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม ร่วมงานพร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา สถานประกอบการในเครือข่าย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2566 ณ ห้อง Auditorium ชั้น 16 อาคาร CP ALL Academy สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ
โอกาสนี้ คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติบรรยายหัวข้อ “แนวคิดในการนำ WBE ระดับโลกมาใช้ในประเทศไทย” โดยส่งเสริมให้เรียนไปด้วยฝึกงานไปด้วย เพื่อผู้เรียนจะได้สกิลที่เพิ่มขึ้นจากห้องเรียน เช่น การมีปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น ทักษะการพูด ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เรียนคณะวิศวกรรมอย่างไรก็ตามอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่อยากปลูกฝังให้กับนักศึกษาพีไอเอ็มคือเมื่อสำเร็จการศึกษา ทำงาน มีอาชีพ มีรายได้แล้วอยากให้รู้จักงานชีวิตที่ทำประโยชน์ต่อสังคมต่อประเทศชาติ ถือเป็นงานที่มีเกียรติและน่าภาคภูมิใจ
ศาสตราจารย์ ดร.เมธี เวชารัตนา ศาสตราจารย์ประจำ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา และสิ่งแวดล้อม แห่ง New Jersey Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา ประธานสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกา และแคนาดา (The Association of Thai Professionals in America and Canada : ATPAC) มาส่งต่อองค์ความรู้ผ่านการบรรยายหัวข้อ “มาตรฐานการศึกษาอาชีพวิศวกรระดับสากล” กล่าวถึง กุญแจสำคัญของการยกระดับมาตรฐานการศึกษาด้านวิศวกรรม พร้อมเสริมเรื่องหัวใจของวิศวกรทุกสาขานอกจากจะเชี่ยวชาญวิชาการเฉพาะทางแล้ว ยังต้องเพิ่มทักษะการออกแบบ ทักษะการนำเสนอ รู้จักการสื่อสาร มีจรรยาบรรณ การทำงานเป็นทีม สร้างการทดลองต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับงาน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต Lifelong Learning โดยเน้นให้คิดจากการทำงานจริง สิ่งเหล่านี้คือความต้องการขั้นพื้นฐานของวิศวกรในปัจจุบัน
ด้านการเสวนาหัวข้อ “สรรสร้างวิศวกรสู่โลกยุคใหม่ด้วย Work-based Education” โดย ดร.ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ รองประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ประเทศไทย บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด, รองศาสตราจารย์ ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ที่ปรึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม แชร์มุมมองความท้าทายของการสร้างคนสู่สายงานวิศวกร บทบาทของสถานศึกษาและสถานประกอบการที่มีส่วนช่วยสนับสนุนทักษะต่างๆ ของผู้เรียน รวมถึงเล่าประสบการณ์การฝึกงานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งทักษะที่จำเป็นต่างๆ นอกเหนือจาก Hard Skill แล้วยังต้องมี Social Skill ควบคู่กัน โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ปริทรรศน์ ได้ยกตัวอย่างนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม ฝึกปฏิบัติงานที่ร้าน 7-11 ได้โอกาสเจอผู้คนหลากหลายมีปฏิสัมพันธ์กับคนหมู่มากทุกเพศทุกวัย ในขณะเดียวกันได้ฝึกวินัย การสื่อสาร ทำงานเป็นทีม มีความสื่อสัตย์ และเข้าใจชีวิตการทำงานมากขึ้น ทิ้งท้ายการเสวนาด้วยการเตรียมคนสู่ Global Engineer ที่เน้นพัฒนาบุคลากรคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการจริงของสถานประกอบการหรืออุตสาหกรรม
ภายในงานได้รับการสนับสนุนจากบริษัทหุ่นยนต์ร่วมออกบูธแสดงนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ได้แก่ บริษัท Mitsubishi Electric Factory Automation (Thailand), บริษัท YASKAWA ELECTRIC (THAILAND), บริษัท ABB Automation (Thailand), บริษัท SMC Thailand และ บริษัท Liugong Machinery ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตรทางการศึกษา อาทิ สถานประกอบการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐและเอกชน ร่วมแสดงความยินดีสำหรับการก้าวเข้าสู่ปีที่15 ทั้งนี้การดำเนินงานของคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม ใน 2 หลักสูตร คือหลักสูตรปริญญาตรีและปริญญาโทตลอดระยะที่ผ่านมาถือว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์ โดยหล่อหลอมกล่อมเกลาคนคุณภาพที่เชื่อมโยงกับโลกอนาคตและความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญต่อปัจจุบัน