สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (สาธิตพีไอเอ็ม) และพันธมิตร สร้างเด็กไทยสู่ “New Skills” บนเส้นทางเทคโนโลยีเป็นผลสำเร็จ ด้วยงานมหกรรมสนามเด็กเล่นหุ่นยนต์ PIM Robotics Playground 2023 เปิดสนามให้เยาวชนไทย 1,055 ทีม กว่า 2,000 คน จากทั่วประเทศ ร่วมส่งโครงงานและหุ่นยนต์เข้าประกวด เพื่อคว้ารางวัล Champ of The Champ: Beyond Expectation ลัดฟ้าเติมฝันที่ Harbin Engineering University สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมทุนการศึกษาจากพีไอเอ็ม และรางวัลรวมมากกว่า 10 ล้านบาท
PIM Robotics Playground 2023 ภายใต้การผนึกกำลังสนับสนุนโดย 34 องค์กร ทั้งเครือข่ายสถานศึกษา หน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งนับเป็น 2 วันแห่งความสำเร็จในการจุดประกายความคิด การสร้างการเรียนรู้ และพัฒนาฝีมือด้านหุ่นยนต์ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศ มาปล่อยของกันอย่างเต็มที่ ในการคิด สร้างสรรค์ พัฒนาประดิษฐ์หุ่นยนต์กันอย่างคึกคัก สนุกสนาน ท่ามกลางเสียงเชียร์ที่ดังกระหึ่ม ระหว่างวันที่ 17-18 มิถุนายน 2566 ณ อาคารหอประชุมปัญญาภิวัฒน์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถ.แจ้งวัฒนะ
รอยยิ้ม เสียงหัวเราะอย่างมีความสุขที่เกิดขึ้น จากการได้ลงสนามแสดงฝีมือในกิจกรรมต่าง ๆ ช่วยส่งเสริมความรู้พัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรม ด้วยการเปลี่ยนสนามแข่งขัน ให้เป็นสนามแห่งการเล่นและเรียนรู้ แบบที่ผู้เล่นทุกคนสามารถโชว์กระบวนการคิด ศักยภาพด้านการประดิษฐ์คิดค้น จากการเล่น การทดลองทำจริง รวมถึงการทำงานเป็นทีม แก้ไขปัญหา พัฒนาหุ่นยนต์ให้ทำภารกิจออกมาดีที่สุด นำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจในการเข้าศึกษาต่อ และประกอบอาชีพในอนาคต
ที่สำคัญในปีนี้ พิเศษกว่าที่ผ่านมา ด้วยมีการปรับรูปแบบโดยใช้ระเบียบใหม่ ที่ไม่เน้นเรื่องแพ้ชนะเป็นสำคัญ แต่เน้นให้เกิดการเรียนรู้ การคิดเชิงระบบ ใช้ความถนัดของแต่ละคนเป็นที่ตั้ง เป็นการหาความรู้คงทนที่เกิดจากความท้าทาย เพื่อพัฒนารูปแบบและเทคนิคให้หุ่นยนต์ที่ประดิษฐ์ขึ้น สามารถชาเลนจ์ในสนามได้อย่างเต็มศักยภาพ บนพื้นฐานของทรัพยากรที่ตนมี สอดรับการปลูกฝัง “New Skills” ที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนมาสู่แนวคิดใหม่ เน้นการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะที่ตรงกับความต้องการของสังคม ให้เข้าใจ เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ มีความคิดสร้างสรรค์ ปรับตัวได้เร็วกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจอื่นๆ รวมถึงเป็นผู้ที่พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต
เพื่อสนับสนุนความทุ่มเทและสร้างกำลังใจให้กับเยาวชนที่เข้าร่วม PIM Robotics Playground 2023 พีไอเอ็มและพันธมิตร จึงมอบรางวัลเป็นทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และทุนเรียน Program of Artificial Intelligence International Class ณ Harbin Engineering University เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีผลงานยอดเยี่ยมทางด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับชาติ เป็นเวลา 1 เดือน จำนวน 3 ทุน
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม กล่าวว่า “พีไอเอ็มและหน่วยงานผู้ร่วมสนับสนุนมองว่าเป็นเวทีสำคัญที่ให้น้องๆ มีโอกาสได้แสดงศักยภาพ ค้นหาความสามารถ พรสวรรค์ด้านเทคโนโลยี ที่สำคัญคือได้ฝึกทักษะที่จำเป็นตั้งแต่วัยเยาว์ ถือเป็นการเตรียมตัว และสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นวิศวกรที่ดีในอนาคต ซึ่งวิศวกรที่ดีควรมีทักษะสำคัญคือ มองปัญหาออก แก้ปัญหาด้วยการออกแบบ หรือสร้างเครื่องมือด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม และยังต้องใช้งานเครื่องมือเหล่านั้นแก้ปัญหาได้อย่างเชี่ยวชาญ โดยจะเห็นชัดจากขั้นตอนการออกแบบสร้างหุ่นยนต์ และวิธีการเล่น ล้วนสอดคล้องกับภารกิจที่ได้รับ ยิ่งไปกว่านั้นน้องๆ ยังต้องทำงานเป็นทีม ฝึกฝนการนำเสนอ ทักษะต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของวิศวกรยุคใหม่
รองศาสตราจารย์ ดร. พิสิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า พีไอเอ็มเองให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง หรือที่เรียกว่า Work-based Education เป็นอันดับต้นๆ ด้วยการเรียนทฤษฎีในห้องควบคู่การฝึกงานในสถานประกอบการจริงกว่า 18 เดือน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คณะวิศวะมีโครงการส่งนักศึกษาไปฝึกงานระยะยาวที่ต่างประเทศ เช่น เวียดนาม จีน และญี่ปุ่น โดยเฉพาะญี่ปุ่นมีทั้งฝึกงานและบรรจุงาน ณ เมืองคิตะคิวชู จังหวัดฟุกุโอกะ ต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี ปัจจุบันมีศิษย์เก่าทำงานเป็นวิศวกรอยู่ที่นั่นกว่า 30 คน ซึ่งเราพบว่าหากน้องๆ มีโอกาสใช้ชีวิตในต่างแดนในช่วงอายุไม่มากนัก จะทำให้มีแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่น โดยเฉพาะเรื่องภาษารวมถึงสามารถปรับตัวได้ดี และในครั้งนี้ Harbin Engineering University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เน้นการวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศจีน และยังเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับคณะวิศวะฯ ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยที่มีความสามารถด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวนหนึ่งจากงานนี้ ได้ไปศึกษาเรียนรู้ อันจะเป็นประสบการณ์อันมีค่า และเป็นแต้มต่อเพื่อการไปศึกษาต่อหรือการทำงานต่างประเทศในอนาคต”
ด้าน อาจารย์จิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประจำปี 2560 และที่ปรึกษาโรงเรียนสาธิตพีไอเอ็ม เจ้าของแนวคิดระเบียบการเล่นใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ครั้งนี้ใช้ระเบียบการเล่นมากกว่ากติกา โจทย์ที่ออกมาจึงดูต่างไม่เหมือนสนามอื่น เหตุเพราะไม่ต้องการให้เด็กอยู่แต่ในกรอบ จึงไม่กำหนดรูปแบบการทำภารกิจที่ตายตัว ไม่มีคะแนนเต็ม ไม่กำหนดวิธีการหยิบ จับ ยก หรือลากวัตถุ การลำเลียง และขนส่ง เด็กสามารถเลือกกลยุทธ์ของตนเองได้ เปิดโอกาสให้เด็กได้วางแผนและใช้กระบวนการคิดของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของหุ่นยนต์ นอกจากนี้ระเบียบการแข่งขันเอื้อให้หุ่นยนต์ที่ออกแบบโครงสร้างทำภารกิจด้วยกลไกที่น้อยกว่า สามารถใช้กลยุทธ์และวิธีการอื่นทำภารกิจที่สอดคล้องกับกลไกของหุ่นยนต์ที่ตนเองออกแบบมา
อ.จิรัฏฐ์ ทิ้งท้าย อยากเห็นเด็กไทยยอมรับซึ่งกันและกัน เด็กทุกคนมีความเก่งเฉพาะตัว อยากให้เข้าใจตัวเองและตัวตนของเพื่อน และนำความสามารถแต่ละด้านมารวมกัน เราก็จะทำอะไรที่หลากหลายขึ้น และสังคมก็ต้องการกลุ่มเด็กเหล่านี้ งานนี้ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองทั้งของผู้จัดและเด็กให้เห็นว่าการเรียนรู้เรื่องหุ่นยนต์ไม่ใช่แค่การควบคุมให้หุ่นยนต์ทำตามภารกิจได้เท่านั้น แต่ต้องใช้กระบวนการคิดที่เหนือกว่า อีกยังใช้งานนี้เป็นเครื่องทดสอบความสนใจของเด็กว่าสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่ใช่สิ่งที่ชอบหรือไม่ เพื่อจะได้ใช้ความมุ่งมั่นให้เต็มที่ เช่นเดียวกับแนวทางที่โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ดำเนินการอยู่และประสบความสำเร็จ คือการปลูกฝังเรื่องนี้จนค้นพบตัวเอง ส่งเสริมตามความถนัดของเด็ก และพัฒนาให้เป็นทักษะและความสามารถพิเศษ จนกลายเป็นจุดแข็งของเด็กแต่ละคน และเขาก็จะมองเห็นทิศทางชีวิตทั้งการเรียนและเส้นทางอาชีพในอนาคตได้อย่างชัดเจน
PIM Robotics Playground 2023 จึงเป็นสนามเด็กเล่นหุ่นยนต์ ที่ทำให้ทุกคนได้กลายเป็นผู้เล่นที่มีทักษะใหม่ เป็น Tech Talent จากการได้เรียนรู้ 3 ศาสตร์พื้นฐานของหุ่นยนต์ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ แมคคาทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์โค้ดดิ้ง ซึ่งเป็นการวางรากฐานปลูกฝังเยาวชนให้ตระหนักถึงการแสวงหาความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างไม่มีที่สิ้นสุด พร้อมเชื่อมต่อไปสู่การเกิดเครือข่าย มิตรภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรม หรือสิ่งดีๆสู่สังคมและประเทศชาติต่อไป
ขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกองค์กรหน่วยงานที่ร่วมเติมศักยภาพเยาวชนรุ่นใหม่ ผนึกกำลังขับเคลื่อน PIM Robotics Playground 2023 ให้สำเร็จดังเป้าหมาย บริษัท พานาโซนิค เอเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนถ่านไฟฉาย Evolta ขนาด AA เติมพลังเพาเวอร์ให้กับหุ่นยนต์ผู้เล่นตลอดกิจกรรม มูลค่า 369,600 บาท และ บริษัท ซีพีแรม จำกัด สนับสนุน เบเกอรี่ เลอแปง และ ติ่มซำเจดดราก้อน เติมอิ่ม เพิ่มพลังท้องพลังสมอง มูลค่า 50,000 บาท พร้อมกองทัพเครือข่ายพันธมิตรอีกมากมาย ดังนี้
- สำนักนายกรัฐมนตรี
- กระทรวงศึกษาธิการ
- สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
- ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
- ชมรมครูหุ่นยนต์ไทย
- ชมรมโรโบอินโนเวเตอร์
- บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
- สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม)
- โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (สาธิตพีไอเอ็ม)
- โรงเรียนหนองบัว
- โรงเรียนบางปลาม้า สูงสุมารผดุงวิทย์
- สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- มหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ฮาร์บิน ประเทศจีน (Harbin Engineering University)
- Mitsubishi Electric Factory Automation
- Panasonic Energy (Thailand) Co.,Ltd.
- Yaskawa Electric Thailand
- ABB Robotics & Discrete Automation
- บริษัท อินโนเวตีฟ เอ็กเพอริเมนต์ จำกัด (INEX)
- บริษัท เอส.เอ็ม.ซี. (ประเทศไทย) จำกัด (SMC (Thailand) Ltd.)
- บริษัม แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด
- Software Park Thailand
- บริษัท เมคเกอร์ โรโบติกส์ จำกัด
- สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (STAMEO STEM-ED)
- บริษัทแอ๊ด วานด์ โปรเจ็ค กรุ๊ป (Robot Kits)
- RobotLAB Thailand
- บริษัท ซีพีแรม จำกัด
- บริษัท เจ อาร์ เอฟแอนด์บี จำกัด (House Foods)
- บริษัท แซนด์-เอ็ม โกลบอล จำกัด (Handy Herb)
- บริษัท เอฟแอนด์เอ็น แดรี่ส์ (ประเทศไทย) จำกัด
- บริษัท เดอเบล จำกัด
- บริษัท เอเวอร์มอร์ จำกัด
- บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด
- บริษัท เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
- บริษัท อัลเฟรโด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด
สำหรับผลการแข่งขันมีรางวัลต่างๆ มีดังนี้
รายการประกวดโครงงาน
โครงงานซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์
รางวัลชนะเลิศ โรงเรียนพรตพิทยพยัต จ.กรุงเทพมหานคร
รองชนะเลิศอันดับที่ 1 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม
รองชนะเลิศอันดับที่ 2 โรงเรียนขจรเกียรติศึกษา จ.ภูเก็ต
โครงงานสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ Microcontroller ควบคุมการทำงาน
รางวัลชนะเลิศ โรงเรียนบ้านนา “นายกพิทยากร” จ.นครนายก
รองชนะเลิศอันดับที่ 1 โรงเรียนชลราษฎรอำรุง จ.ชลบุรี
รองชนะเลิศอันดับที่ 2 โรงเรียนท็อปโรบอทคิดส์
โครงงานธุรกิจ
รางวัลชนะเลิศ โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (สาธิตพีไอเอ็ม) จ.นนทบุรี
รองชนะเลิศอันดับที่ 1 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี จ.กรุงเทพมหานคร
รองชนะเลิศอันดับที่ 2 โรบอทฟอร์คิดส์สาขาฟอร์จูนทาวน์ จ.กรุงเทพมหานคร