คณะพยาบาลศาสตร์ (School of Nursing) และชีวาสุขวิทยาลัย (College of Health and Wellness) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) เผยบทบาทนักวิชาการเฉพาะทาง ผนึกเครือข่ายด้านการพยาบาลมุ่งเป้าหมายสำคัญระดับตัวแทนประเทศไทย เพื่อการพัฒนาและสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการพยาบาลและสาธารณสุขของไทยสู่สากล ดำเนินการจัดโครงการอบรมระยะสั้นนานาชาติในรูปแบบออนไลน์หลักสูตร “การพัฒนาความเข้มแข็งของระบบสุขภาพชุมชนเพื่อรองรับสังคมสูงวัย Strengthening Community Health System to Support Ageing Society” ภายใต้การสนับสนุนของ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ Thailand International Cooperation Agency (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ ในระหว่างวันที่ 17-28 เมษายน 2566 โดยได้รับเกียรติจาก ร้อยโท สรวุฒิ ปรีดีดิลก อัครราชทูต กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมและต้อนรับผู้เข้าอบรมจากประเทศต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลไทย อันเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ทาง TICA ให้ทุนสนับสนุนการเรียนรู้สำหรับ ผู้ที่สนใจหัวข้อดังกล่าว โดยเมื่อเสร็จสิ้นการจัดอบรมเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ต่อเนื่องในเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ผ่านการอบรมได้รับใบประกาศนียบัตรจำนวน 40 ท่าน จาก 12 ประเทศ ที่มาจากทั้งในทวีปเอเชีย แอฟริกา อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ เช่น ฟิลิปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา ศรีลังกา บาห์เรน อียิปต์ เคนยา ซูดาน โมร็อกโกซิมบับเว สาธารณรัฐมินิกัน เอกวาดอร์ ตรินิแดดและโตเบโก ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรทางการพยาบาล บุคลากรด้านสาธารณสุข นักวิชาการ และนักวิจัย นับเป็นการจัดอบรมระดับสากล มุ่งเผยแพร่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นโยบาย การดำเนินงานของระบบสุขอนามัยประชากรสูงวัยในชุมชน-สังคม กรณีศึกษาที่น่าสนใจของประเทศไทยสู่นานาประเทศ เกิดการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกิจกรรมอภิปราย นำไปสู่การสร้างรากฐานพร้อมต่อยอดความรู้ร่วมกันสู่ระดับโลก ให้เกิดระบบส่งเสริมสุขภาพของสังคมสูงวัยที่แข็งแรงยิ่งขึ้น สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล รองอธิการบดี ฝ่ายวิทยาศาสตร์สุขภาพ และรักษาการคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้จัดงานหลัก และเป็นบุคลากรทางการศึกษาที่เปี่ยมคุณภาพกับรางวัลคุณภาพทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อีกทั้งเป็นผู้ที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในรายชื่อ World’s TOP 2% Scientists by Stanford University 2021 ของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก สาขา Nursing เผยว่า หลักสูตรอบรมการพัฒนาความเข้มแข็งของระบบสุขภาพชุมชนเพื่อรองรับสังคมสูงวัย มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์และความท้าทายการตอบสนองของผู้สูงวัยทั่วโลก อีกทั้งร่วมกำหนดนโยบายสำหรับการทำงานกับองค์กรชุมชนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข และกลุ่มต่างๆ เพื่อพัฒนาและรองรับประชากรผู้สูงวัยในชุมชนหรือสังคม พร้อมขอบคุณทุกภาคส่วนที่สนับสนุนการจัดทำหลักสูตรดังกล่าว
ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ของการอบรมอัดแน่นด้วยคอร์สแห่งการเรียนรู้หลายมิติ อาทิ หัวข้อ Health care delivery systems, Global Ageing situations and responds, Community data management and utilization, Healthy public policy development to support healthy ageing และ Planning and Project development to strengthen community health system in supporting healthy ageing เป็นต้น ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้ง ผู้บริหาร อาจารย์ ผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ จากเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ-เอกชน ผนึกกำลังร่วมบรรยายพิเศษ เพื่อให้ข้อมูลในมิติการจัดระบบบริการสุขภาพ และระดับสถานบริการตามระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศอันเป็นประโยชน์ ได้แก่ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย, วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ, มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, Chersery Home International โรงพยาบาลผู้สูงอายุ และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู, บริษัท มีสุข (ประเทศไทย) อสังหาริมทรัพย์เพื่อผู้สูงอายุ และเนิร์สซิ่งโฮม, เทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง จ.เชียงใหม่ และองค์การบริหารส่วนตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ในฐานะคณะทำงานหลักขับเคลื่อนการดําเนินการจัดอบรม ได้ร่วมแบ่งปันความรู้ผ่าน 4 วิทยากรซึ่งเป็นคณาจารย์จากคณะ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ วิลาวัณย์ เสนารัตน์, ดร. จรูญรัตน์ รอดเนียม, อาจารย์ศรีสุดา งามขำ และดร. กุสุมาลี โพธิปัสสา อาจารย์ประจำ คณะพยาบาลศาสตร์ พีไอเอ็ม
ด้านการออกแบบหลักสูตรอบรม เสริมไฮไลท์กิจกรรมที่น่าสนใจคือ Virtual Field Study ผ่านห้องเรียนออนไลน์ประกอบการอบรมเพื่อให้ผู้เข้าอบรมรู้สึกเสมือนได้มีโอกาสศึกษาดูงานในสถานพยาบาลหลากหลายประเภทของไทย ได้แก่ ดิ แอสเพน ทรี เดอะ ฟอเรสเทียส์ (The Aspen Tree The Forestias), ศูนย์เทพรัตน์การุญ ศูนย์ส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ และ องค์การบริหารส่วนตำบลพลูตาหลวง จ.ชลบุรี ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ นโยบาย การดำเนินงานและการบริการสุขภาพแก่ผู้สูงอายุของหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างการดูแลและส่งเสริมสุขภาพของประชากรสูงวัยของไทย
อีกทั้งผลการประเมินจากผู้เข้ารับการอบรมครั้งนี้อยู่ในระดับดีมากและให้ข้อคิดเห็นกับหลักสูตรนี้ว่าวิทยากรมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในหัวข้อการฝึกอบรมเป็นอย่างดี และเตรียมพร้อมการบริหารจัดการหลักสูตรสำหรับผู้ฟังที่หลากหลายอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันเป้าหมายของการอบรมมีความชัดเจนและมีความเฉพาะทาง ทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รู้ถึงปัญหาความแตกต่างของการดูแลผู้สูงวัยในแต่ละประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมระหว่างอบรม ด้านสื่อที่ใช้ในการอบอรมเอื้อต่อการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ยังคงเดินหน้าเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ นวัตกรรม งานวิชาการ และงานวิจัย อย่างต่อเนื่อง ด้วยคณาจารย์พยาบาลมืออาชีพ ขับเคลื่อนวิชาการด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพใหม่ๆ ให้เป็นที่แพร่หลาย รวมถึงเตรียมความพร้อมและพัฒนาผู้เรียนตามมาตรฐานทั้งด้านวิชาการ การปฏิบัติ และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศระดับสากลสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของทางคณะท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง