โครงการฝึกงานและบรรจุงานด้านวิศวกรรม ณ เมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เป็นโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุน Work-based Education การเรียนรู้ควบคู่กับการฝึกปฏิบัติงานที่ยกระดับสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยแลนด์ 4.0 โดยมีศูนย์เครือข่ายเทคโนโลยีและนวัตกรรม พีไอเอ็ม เป็นผู้ประสานงาน ทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่าง 4 องค์กร ได้แก่
1. สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม)
2. เทศบาลเมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น (Bureau City of Kitakyushu)
3. National Institute of Technology, Kitakyushu College (NITKIT) หนึ่งในสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่ผลิตวิศวกรชั้นนำให้แก่ประเทศญี่ปุ่น
4. Kitakyushu Foundation for Industrial Science and Technology มูลนิธิของกลุ่มอุตสาหกรรมในเมืองคิตะคิวชู ที่จัดฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ
โครงการนี้ทำให้นักศึกษาและบัณฑิตของพีไอเอ็มได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ จากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระดับโลก และมีโอกาสในการบรรจุงานในบริษัทต่างประเทศ ปัจจุบันโครงการนี้มีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาคธุรกิจและภาคการศึกษา รวมถึงกำลังขยายโครงการนี้ไปยังเมืองอื่นๆ ในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
เครือข่ายบริษัทอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นที่เข้าร่วมโครงการคิตะคิวชูมีหลายบริษัท แบ่งเป็นธุรกิจ 5 ประเภท ได้แก่
1. ประเภท System Integrator
– ICS Sakabe
– Maeda Kiko
2. ประเภท System Integrator & Design Software
– JMACS
– Ohnest
– KMEC
3. ประเภท Image Processing
– Ryowa
4. ประเภท Manufacturing Industry
– WORKS
– Ishikawa Metal Finishing
– Taiyo Incorporated
– Keisokykensa
– HID
– Kokura Tetsudo
– Daiichii Seisakusho
– Kyushu Tetsudo Kiki
– ASKA
– Yawata Electric Machinery MFG
– HEADS
5. ประเภท Trading Company
– Dhowa Technos
และในปัจจุบัน มีบริษัทองค์กรพันธมิตรที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้เพิ่มมากขึ้นทุกปีจากความร่วมมือที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากความต่อเนื่องของโครงการคิตะคิวชูที่เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2561 จนถึงปัจจุบัน พีไอเอ็มได้ส่งนักศึกษาไปฝึกงานที่ญี่ปุ่นแล้วเป็นจำนวน 33 คน และมีนักศึกษาที่ได้บรรจุงานทันทีหลังเรียนจบจำนวน 24 คน โดยนักศึกษาวิศวะรุ่นที่ 5 ได้เดินทางไปฝึกงาน พร้อมกับพี่บัณฑิตรุ่นที่ 4 ที่ได้รับการบรรจุงานเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และในขณะนี้ก็กำลังมีการคัดเลือกนักศึกษารุ่นที่ 6 ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการนี้ต่อไป
ความสำเร็จเหล่านี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันของเครือข่ายองค์กรพันธมิตรทุกฝ่ายที่เล็งเห็นความสำคัญของ Work-based Education ตลอดจนความมุ่งมั่นของนักศึกษาวิศวะ พีไอเอ็ม ที่ตั้งใจศึกษาเพื่อนำวิชาความรู้ไปต่อยอดสำหรับการทำงานในอนาคต โครงการนี้จึงได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แล้ว
โครงการคิตะคิวชูนั้นมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น โดยมีสื่อต่างๆ ทำการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับโครงการ ดังนี้
– นักศึกษารุ่นที่ 1 ของโครงการได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ LIGHTNING TALK กับ สายสวรรค์ ขยันยิ่ง ตอน “โครงการศึกษาและฝึกปฏิบัติงานประเทศญี่ปุ่น ประสบการณ์พิเศษของนักศึกษาพีไอเอ็ม”
รับชมคลิปวิดีโอย้อนหลังได้ที่ https://www.saisawankhayanying.com/…/lightning-talk-27…/
– ช่องข่าว NHK ที่ประเทศญี่ปุ่นได้นำเสนอเรื่อง นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม จำนวน 6 คน ในรุ่นที่ 3 มีโอกาสเดินทางไปฝึกปฏิบัติงาน ณ เมืองคิตะ คิวชู ประเทศญี่ปุ่น ได้นำเสนอผลการปฎิบัติงานตลอดระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2564 ให้แก่ผู้บริหารเมืองคิตะคิวชูและบริษัทที่ได้เข้าฝึกปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านวิศวกรรมศาสตร์ สร้างความประทับใจให้กับผู้บริหารทั้งในด้านวินัยของการทำงาน ความขยัน มุ่งมั่นตั้งใจ ส่งผลให้การฝึกปฏิบัติงานในครั้งนี้ได้รับโอกาสบรรจุงานทันที 4 คน และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 2 คน
ที่มา : ช่องข่าว NHK Japan : 23 April 2021
หนังสือพิมพ์ไมนิจิ (The Mainichi Shimbun) ของประเทศญี่ปุ่น ได้เผยแพร่ข่าวความคืบหน้าของโครงการคิตะคิวชูอย่างต่อเนื่องในหลายวาระ ดังนี้
– เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 หนังสือพิมพ์ไมนิจิได้เผยแพร่ข่าวเรื่องหน่วยงาน Industry Promotion Division เทศบาลเมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดงานเปิดรับสมัครบริษัทในเมืองคิตะคิวชูที่สนใจเข้าร่วมโครงการรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม เข้าฝึกปฏิบัติงาน ณ เมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น งานนี้จัดขึ้นที่ Wakamatsu Ward และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี
ที่มา : https://mainichi.jp/articles/20220611/ddl/k40/010/327000c
– เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 มีข่าวจากหนังสือพิมพ์ไมนิจิเรื่อง นักศึกษาจากพีไอเอ็มซึ่งเข้าร่วมโครงการฝึกงานที่บริษัทด้านหุ่นยนต์ในเมืองคิตะคิวชู ได้เข้าพบคารวะนายกเทศมนตรี Kenji Kitahashi โดยได้มีการดำเนินโครงการฝึกงานมาตั้งแต่ปี 2018 มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมโยงทรัพยากรบุคคลระหว่างประเทศที่มีทักษะขั้นสูงสู่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในท้องถิ่น ตลอดจนจัดหาและฝึกอบรมวิศวกรรุ่นใหม่ที่กำลังมองหางาน
ที่มา : https://mainichi.jp/articles/20221201/ddl/k40/020/247000c