รศ.ดร.ปริญญา สงวนสัตย์ หรือ อาจารย์ต้น เป็นหัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน AI โดยเฉพาะเรื่อง Computer Vision ปัจจุบันเป็นอาจารย์ผู้สอนในระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ที่พีไอเอ็ม โดยรายวิชาที่อาจารย์สอนมีดังนี้
– Machine Learning
– Computer Vision
– Data Structure and Algorithm
– Hardware Accelerator for Deep Learning
นอกจากนั้นอาจารย์ยังสอนปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ตลอดจนเป็นอาจารย์ในโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ Non-Degree หลักสูตร: วิทยาการข้อมูลและเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าสำหรับการวิเคราะห์เชิงธุรกิจ (Data Science and Big Data Technology for Business Analytics) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม
ที่สำคัญ อาจารย์ยังเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการของวารสาร International Scientific Journal of Engineering and Technology (ISJET) ซึ่งแหล่งนำเสนอผลงานวิชาการ ผลงานวิจัย และงานสร้างสรรค์ต่างๆ อันเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการและการศึกษา เนื่องจากผ่านการรับรองคุณภาพของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) กลุ่มที่ 2 ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกด้วย ท่านที่สนใจสามารถคลิกอ่านวารสารได้ทีนี่ https://ph02.tci-thaijo.org/index.php/isjet
หนังสือที่เขียนโดย อ.ต้นมีอยู่ด้วยกันหลายเล่ม แต่เล่มที่ทำให้ชื่อเสียงของ รศ.ดร.ปริญญา สงวนสัตย์ เป็นที่รู้จัก ได้แก่ AI สร้างได้ด้วยแมชชีนเลิร์นนิ่ง, Artificial Intelligence with Machine Learning
“เล่มนี้เคยขึ้นอันดับ 1 ในร้าน SE-ED ปกติหนังสือ Top 10 อันดับ 1 ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเงินการลงทุน แต่เล่มนี้ก็แซงขึ้นมาได้ เพราะ AI กำลังมาแรง เป็นช่วงเวลาที่คนสนใจเรื่องนี้พอดีแล้วก็อยากจะศึกษากัน เล่มนี้เป็นพื้นฐาน ถ้ารู้คณิตศาสตร์ในระดับชั้น ม.ปลายครบถ้วนก็จะสามารถอ่านเล่มนี้ได้ หนังสือเล่มอื่นส่วนใหญ่จะเน้นวิธีการเรียกใช้ Tools และไลบรารีสำเร็จรูปในการทำงาน แต่เล่มนี้ก็จะเน้นการเขียนทุกอย่างขึ้นมาด้วยตนเอง ทำให้เข้าใจกลไกข้างในของ AI มากกว่า”
หนังสือเล่มนี้อาจารย์ได้อาศัยประสบการณ์ในการสอนและการวิจัยในสาขาวิชานี้ ตั้งแต่ระดับชั้นปริญญาตรีถึงปริญญาเอก โดยพยายามสอดแทรกตัวอย่างที่ง่ายต่อการเข้าใจ ที่ได้เคยใช้ในการอธิบายนักศึกษาในชั้นเรียน ตลอดจนประสบการณ์ในการทำวิจัย ในแต่ละบทประกอบด้วยเนื้อหา ขั้นตอนวิธี และโปรแกรมตัวอย่างที่เขียนขึ้นด้วยภาษา “Python” ซึ่งเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่ายและได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งนี้รหัสต้นฉบับ (Source Code) เกือบทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ อาจารย์มีความตั้งใจเขียนขึ้นมาจากพื้นฐานโดยไม่ได้ใช้ไลบรารีระดับสูง เพื่อให้เข้าใจหลักการทำงานเบื้องหลังอย่างแท้จริง ทำให้ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ด้วยภาษาที่ตนเองถนัดได้ง่ายรายละเอียดเพิ่มเติม https://bit.ly/3EZOKyL
ส่วนอีกเล่มที่ได้รับความนิยมและมีการตีพิมพ์ซ้ำเช่นกัน ได้แก่ คู่มือการใช้งาน MATLAB ฉบับสมบูรณ์ เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเรียนรู้การใช้งานและเขียนโปรแกรมกับ MATLAB ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงการประยุกต์ใช้งานจริง โดยเชื่อมโยงกับความรู้ด้านคณิตศาสตร์ การเขียนโปรแกรม เข้าด้วยกัน รายละเอียดเพิ่มเติม https://bit.ly/3TDGEQi
“ผมมีส่วนร่วมใน Creative AI Camp 2022 ที่กำลังจัดขึ้นในตอนนี้โดยสำนักปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ (CAI) ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) Creative AI Camp จะคัดเลือกเยาวชนตัวแทนคนรุ่นใหม่จากโรงเรียนทั่วประเทศ มาเข้าร่วมค่ายในรูปแบบ Phenomena Work-based Learning ที่มีการระดมสมอง และสร้างสรรค์ผลงาน โดยเชิญวิทยากรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาวิชาต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับทั้งด้านวิชาการและประสบการณ์การทำงาน มาให้ความรู้แก่เยาวชนใน 3 ส่วน ได้แก่ ธุรกิจ หมากล้อม และ AI ซึ่งผมจะเป็นทั้งวิทยากรและ Mentor ในส่วนของ AI”
งานนี้มีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมที่เป็นเด็กนักเรียนมัธยมปลาย สายอาชีวะ จนถึงระดับอุดมศึกษา และมีความสนใจในการพัฒนา AI, Blockchain และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสำหรับคนที่เขียนโปรแกรมได้ก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ สนใจ Creative AI Camp สามารถติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/caicamp
“ผมเป็นโค้ชในโครงการ Super AI Engineer* มาแล้ว 2 ซีซั่น งานนี้จะมีการคัดเลือกผู้เข้ารอบโดยแบ่งเป็นหลายรอบ รอบที่ 1 จะเป็นการอบรมและสอบคัดเลือก รอบที่ 2 จะเป็นการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันเข้าบ้าน ซึ่งก็จะมีการเก็บตัวที่บ้านซึ่งมีให้เลือก 6 หลัง บ้านที่ผมอยู่ชื่อ EXP ผมเป็นหัวหน้าบ้านนี้มา 2 ซีซั่นแล้ว ใน 1 บ้านก็จะมีโค้ชครบทุกด้าน ทั้งด้าน Computer Vision, Natural Language Processing หรือ NLP, Image Processing, Signal Processing, Data Science, Data Engineering, IoT และหุ่นยนต์
ใน 1 สัปดาห์จะมีโจทย์ Hackathon เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรมแบบเร่งด่วน บางสัปดาห์ก็จะเป็นเรื่อง Image Processing บางสัปดาห์ก็จะเป็นเรื่อง Speech Processing เราก็มีหน้าที่โค้ช ให้คำแนะนำว่า ควรจะทำวิธีไหน อย่างไร
โครงการนี้มีผู้สมัครตั้งแต่ชั้นมัธยมจนถึงเกษียณอายุ มีการฝึกงานตอนจบและมีตัดสินเป็นระดับเหรียญทอง เงิน และทองแดง ในซีซั่น 1 มีผู้ที่ได้เหรียญทองทั้งหมด 8 เหรียญ อยู่ที่บ้านนี้ 4 เหรียญ ส่วนซีซั่น 2 มีเหรียญทอง 9 เหรียญ อยู่ที่บ้าน EXP 4 เหรียญอีกเช่นกันครับ”
* เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Association of Thailand: AIAT) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เครือข่ายสถาบันวิชาการปัญญาประดิษฐ์ เครือข่ายมหาวิทยาลัย และภาคเอกชนกว่า 60 องค์กร จัดขึ้นเพื่อการพัฒนานวัตกร วิศวกร นักวิจัย และวิสาหกิจเริ่มต้นด้าน AI และสร้างความตระหนักด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถรองรับการเปลี่ยนผ่านของภาคเศรษฐกิจและสังคมจากยุคเทคโนโลยีสารสนเทศไปสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต
สนใจ Super AI Engineer Season 3 คลิกที่นี่ https://superai.aiat.or.th/
สำหรับใครที่สนใจเรื่องราวของ AI สามารถติดตาม อ.ต้น ในฐานะ Youtuber ได้ทาง
Youtube Channel: AI บ้านบ้าน
https://www.youtube.com/channel/UCIlmY13nFIVFtd1S1ocnn3Q
Facebook: AI บ้านบ้าน
https://www.facebook.com/aibaanbaan
ในช่องทางเหล่านี้จะมีเรื่องราวของ AI ทั้ง Hardware และ Software เช่น
– D.I.Y. ประกอบเครื่อง Deep Learning
– Computer Vision ด้วย OpenCV บน Python
– รู้จักกับข้อมูลภาพและวิธีการนำเข้าไปใช้กับโมเดล AI ต่างๆ ด้วยภาษา Python
ฯลฯ
แรงบันดาลใจของ อ.ต้น ในการทำเพจ Facebook และช่องทาง Youtube มาจากไหน?
“ตามชื่อเลยครับ ตอนแรกผมอยากจะสื่อสารด้วยภาษาที่ค่อนข้างง่าย จะเอาภาษาง่ายๆ มาพูด Target ก็จะเป็นเด็กมัธยมเป็นส่วนใหญ่ กับคนที่พอรู้คณิตศาสตร์และอยากจะเริ่มเขียนโปรแกรม แล้วก็หยิบแง่มุมที่น่าสนใจแต่ไม่ยากนักมานำเสนอ เช่น การแก้ปัญหา Puzzle ต่าง ๆ การประยุกต์ความรู้ระดับมัธยม เช่น คณิตศาสตร์ ชีววิทยา พร้อมยกตัวอย่างประเภทเป็นการ์ตูนที่เป็นที่รู้จัก ตลอดจนเรื่องของการ Setup Environment ที่ใช้ในการเขียนโปรแกรมด้วย จะได้สามารถเริ่มทำด้วยตนเองได้ครับ”