นักศึกษาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ คว้ารางวัลใน การแข่งขันนวัตกรรมอาหารจากพืชในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปี 2565 (The ProVeg Food Innovation Challenge APAC 2022) เพื่อต่อยอดสร้างสตาร์ทอัพ และนักนวัตกรรมรุ่นใหม่พัฒนาเมนูอาหารแห่งอนาคต ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งด้านความอร่อย สุขภาพ สวัสดิภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทย ก้าวสู่นักพัฒนานวัตกรรมอาหารบนเวทีระดับสากล ร่วมถ่ายทอดความเชี่ยวชาญแก่เยาวชนไทย ซึ่งได้ประกาศรางวัลไปเมื่อวันพุธที่ 11 มกราคม 2566 ผ่านช่องทางออนไลน์ ZOOM
โดยทีม Hi-Burger นักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 3 จากผลงาน เบอร์เกอร์เนื้อจากพืช ที่เน้นใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เช่น ขนุน บีทรูท ถั่วเหลือง และราดด้วยน้ำซอสสะเต๊ะให้รสกลมกล่อมแบบไทย ซึ่งมีสมาชิกทีมได้แก่ นางสาวรัชฎาพร สุขเจริญ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาการจัดการธุรกิจภัตตาคาร, นายชญศักดิ์ แซ่อึ้ง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาการจัดการธุรกิจภัตตาคาร คณะการจัดการธุรกิจอาหาร, นายปรเมศ เศรษฐวนิช นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่ หลักสูตรนานาชาติ และ Mr.Khampasert Douangsithi นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาการจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่ หลักสูตรนานาชาติ วิทยาลัยนานาชาติ
ผลงาน “Hi-Burger”เบอร์เกอร์เนื้อเทียมทำจากวัตถุดิบท้องถิ่นของประเทศไทย หมักและปรุงรสสะเต๊ะที่เป็นอาหาร Street food ของไทย ซึ่งเป็นโจทย์จากบริษัทบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเมนูอาหารท้องถิ่นของชาวเอเชีย โดยใช้เนื้อจากพืชที่มีรสสัมผัสเสมือนเนื้อจริง พร้อมการนำเสนอกลยุทธ์การสร้างแบรนด์สินค้า และวางแผนการเปิดตัวสินค้า ทั้งนี้ยังได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมนำเสนอภายในงาน The UN Climate Change Conference (COP27) เวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ เมืองไคโร ประเทศอียิปต์ ผ่านรูปแบบการประชุมออนไลน์ในหัวข้อ “Youth Innovations in Transforming the Food Systems”
นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆ ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ ผลงาน “Chickpea French Fried” เฟรนช์ฟรายส์ไร้แป้ง ไร้น้ำมัน พลังงานต่ำ โปรตีนสูง จากถั่วลูกไก่ ได้รับรางวัล Finalist prize เป็นโจทย์ที่กำหนดจากบริษัท PepsiCo ใช้ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่จากพืชของบริษัทมาพัฒนาเป็นอาหารที่หลากหลายรูปแบบ รวมถึงคิดกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจอาหารและการวางแผนในการเปิดตัวสินค้า ซึ่งสมาชิกทีมประกอบด้วย นางสาวกณิกนันต์ ทองเพ็ง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 การจัดการธุรกิจภัตตาคาร, นางสาวสุชัญญา จิตนาริ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 การจัดการธุรกิจภัตตาคาร คณะการจัดการธุรกิจอาหาร, นายปรเมศ เศรษฐวนิช นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่ หลักสูตรนานาชาติ และ Mr. Khampasert Douangsithi นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาการจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่ หลักสูตรนานาชาติ วิทยาลัยนานาชาติ
รวมถึง ผลงาน “Peanut Protein Dimsum” ติ่มซำโปรตีนจากถั่ว ได้รับรางวัล Finalist prize ที่กำหนดโจทย์โดยบริษัท Haofood เป็นการพัฒนาอาหารที่มีโภชนาการโดยใช้วัตถุดิบจากพืช ประเภทเครื่องดื่ม ขนม หรือผลิตภัณฑ์ที่มีโภชนาการสูง และข้อมูลเกี่ยวกับแผนธุรกิจรวมถึงการออกแบบบรรบุภัณฑ์ คิดค้นโดย นางสาวรัศมี ศรีคำมี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 การจัดการธุรกิจภัตตาคาร, นางสาวสุชัญญา จิตนาริ ชั้นปีที่ 2 การจัดการธุรกิจภัตตาคาร คณะการจัดการธุรกิจอาหาร, Miss Phonsanook Vesaphong นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่ หลักสูตรนานาชาติ และ Mr.Vilaphap Vongvalith นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาการจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่ หลักสูตรนานาชาติ วิทยาลัยนานาชาติ
โดยมี อาจารย์เปรมมิกา ศิริวิเศษวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและข้อมูลทางอาหาร คณะการจัดการธุรกิจอาหาร (ซ้าย) และ Asst.Prof. Paul Kalin อาจารย์ประจำคณะการจัดการธุรกิจอาหาร (ขวา) เป็นที่ปรึกษาทุกผลงาน
ทางด้าน ดร.ลลานา ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านนวัตกรรมอาหารและความสัมพันธ์องค์กร ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ร่วมเป็นพันธมิตรกับ ProVeg ซึ่งเป็นองค์กรระดับภูมิภาคด้านอาหารที่สนับสนุนการผลิตเนื้อจากพืช (Plant based meat) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมสนับสนุนกิจกรรมการประกวด The ProVeg Food Innovation Challenge APAC 2022 ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร ซีพีเอฟ (CPF RD Center) เป็นผู้ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดความรู้แก่ทีมที่ส่งผลงานร่วมประกวด เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญของซีพีเอฟ นำมาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ และร่วมขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหาร โดยในปีนี้ 2 ใน 3 ทีมที่ซีพีเอฟเป็นที่ปรึกษาจากผลงานที่ส่งเข้าประกวดรวม 179 ผลงาน จาก 16 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สามารถคว้า 2 รางวัลจากเวทีนี้
ซีพีเอฟได้ร่วมกำหนดหัวข้อในการสร้างสรรค์นวัตกรรม คือ การพัฒนาเมนูอาหารท้องถิ่นของชาวเอเชีย โดยใช้เนื้อจากพืช ที่มีรสสัมผัสเสมือนเนื้อจริง โดยนวัตกรจะต้องสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองและวางแผนการเปิดตัวสินค้าให้ครบถ้วน ซึ่งบริษัทฯ จะร่วมเป็นโค้ชให้แก่นักศึกษาที่เข้ารอบ โดยการประชุมออนไลน์ร่วมกัน เพื่อติดตามความคืบหน้า ให้คำปรึกษาและช่วยแก้ปัญหาให้โครงการสำเร็จตามเป้าหมาย นอกจากนี้ โครงการที่เข้ารอบสุดท้ายมีโอกาสพัฒนาเพื่อนำออกขายในตลาดจริงในอนาคต เพื่อเป็นการสร้างนักนวัตกรรมรุ่นใหม่เกี่ยวกับโปรตีนทางเลือกในเอเชีย-แปซิฟิก
ที่มาข่าว: PR CPF