สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) โดยการผนึกกำลังระหว่าง คณะบริหารธุรกิจ ศูนย์นวัตกรรมบริหารธุรกิจ และคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งนักศึกษา 2 ทีมคว้ารางวัลการแข่งขันงาน “Hackathon U League for All 2022”ได้แก่ ทีม All Caring รางวัลชนะเลิศสาขา Best Innovation กับไอเดียนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมความรู้และสมรรถนะการฟื้นฟูสุขภาพกายของกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง พร้อมด้วย ทีม Health Me รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 กับไอเดียแพลตฟอร์ม Follow up การดูแลสุขภาพประจำวันของผู้ป่วยโรคหัวใจหลังจากการพบแพทย์จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ร่วมกับ ศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (IDE Center) โดยการสนับสนุนของ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อเฟ้นหาสุดยอดไอเดียแห่งโลกอนาคตจากกลุ่มนักศึกษา Gen Z ในการนำเสนอแนวคิดนวัตกรรมดิจิทัล มาประยุกต์เป็นโซลูชันใหม่สู่การยกระดับและพัฒนาชีวิตคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง สู่ความเสมอภาคอย่างยั่งยืน ผ่านการบ่มเพาะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ตลอด 2 เดือน ระหว่างเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม 2565
หลังจากการเสนอไอเดียท้าชิงสุดยอดนวัตกรรมอย่างดุเดือด ทีม All Caring สามารถชนะใจกรรมการคว้าแชมป์สาขา Best Innovation ได้สำเร็จ โดยรับมอบรางวัลจาก ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ทั้งนี้สมาชิกทีมเผยว่า “โปรเจกต์ All Caring ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง โดยจะเป็นกลุ่มที่ยังช่วยเหลือตนเองได้เพียงเล็กน้อย และมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติหากหายป่วยจากโรค แต่ยังต้องอาศัยญาติหรือผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยและญาติส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาเรื่ององค์ความรู้ในการทำกายภาพบำบัด และยังขาดอุปกรณ์ที่จะเป็นตัวช่วยให้การฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วย และการพาผู้ป่วยเดินทางไปทำกายภาพบำบัดในสถานพยาบาลในบางรายยังเป็นเรื่องที่ยากลำบาก
นวัตกรรมของเราได้นำเทคโนโลยี Face Recognition มาประยุกต์ใช้เพื่อประกอบการบันทึกข้อมูล Biometric เพื่อเป็นการจำแนกรูปแบบทางกายภาพ ตลอดจนประเมินความปลอดภัยของผู้ป่วย จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการอบรมในภาคทฤษฎีผ่านระบบออนไลน์และทำแบบทดสอบให้ครบตามจำนวนชั่วโมงที่กำหนด จากนั้นให้ทำการเชื่อมต่ออุปกรณ์กล้อง Kinect หันหน้าไปทางผู้ป่วย ระบบ Biometric Identification จะเริ่มทำงานเพื่อการยืนยันอัตลักษณ์ผู้ป่วย และเริ่มต้นเก็บข้อมูลการกายภาพบำบัด จากนั้นจึงเริ่มทำกายภาพตามท่าที่หลักสูตรกำหนด โดยกล้อง Kinect จะตรวจจับท่าทางและใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจสอบท่าทางที่ใช้ในการทำกายภาพบำบัด โดยยึดตามคุณสมบัติของสรีรร่างกายมนุษย์บนผิวกาย ที่มีระบบหมุนเวียนโลหิต ประกอบกับท่าทางการกายภาพที่ถูกต้อง หากระบบ AI พบว่าทำผิดท่า หรือทำท่าเดิมมากไป ระบบจะมีการแจ้งเตือนให้ทราบ และเมื่อกายภาพครบแต่ละครั้งจะมีการบันทึกประวัติการทำกายภาพบำบัด และส่งต่อข้อมูลไปยังสมาร์ทโฟน โดยใช้การเข้ารหัสแบบ AES-CCMP และในอนาคตจะมีการเพิ่มข้อมูลด้านสุขภาพอื่นๆ ของผู้สูงอายุและผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์ได้ใช้ประกอบการวินิจฉัยในการประเมินทางเลือกรักษา และสั่งจ่ายยา และสามารถใช้กับสถานพยาบาลได้ทุกที่ ทุกเวลา”
โดยไอเดียจะสามารถช่วยให้ญาติผู้ป่วยรู้วิธีการกายภาพบำบัดที่ถูกต้องเหมาะกับโรค สามารถขอคำปรึกษาจากนักกายภาพบำบัดได้ พร้อมทั้งค้นหานักกายภาพบำบัดมาทำกายภาพที่บ้านแทนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาล สำหรับองค์กรธุรกิจนำเทคโนโลยีไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม รวมถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ครอบคลุมและเข้าถึงระบบสาธาณะสุขของประเทศ ก้าวต่อไปวางแผนจะพัฒนาต่อยอดจาก Prototype นำเครื่องมือต่างๆ กับการเขียนโปรแกรมเพื่อการกายภาพ และทดลองการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการกายภาพบำบัด
ทางด้านรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ของทีม Health Me แพลตฟอร์ม follow up การดูแลสุขภาพประจำวันของผู้ป่วยโรคหัวใจหลังจากการพบแพทย์ เพื่อติดตามอาการผู้ป่วย โดยให้ผู้ป่วยบันทึกอาการและสุขภาพแต่ละวัน ระบบนำข้อมูลการบันทึกสุขภาพ เปรียบเทียบกับ Standard data ของแพทย์โรคหัวใจ พร้อมทั้งมีการแจ้งเตือนความผิดปกติและประเมินสุขภาพประจำวัน การเตือนการนัดหมายแพทย์ การเชื่อมโยงข้อมูลการดูแลสุขภาพและอาการผู้ป่วยกับสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อส่งต่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการประกอบการรักษาอย่างต่อเนื่อง และอนาคตจะพัฒนาให้ครอบคลุมโรค NCDs โดยแพลตฟอร์มจะเป็นผู้ช่วยแจ้งเตือนต่างๆ แก่ผู้ป่วยทราบอย่างต่อเนื่องและเก็บไว้สำหรับพบแพทย์ และเตือนเมื่อเกิดความผิดปกติ และส่งต่อข้อมูลไปยังโรงพยาบาลประจำ ทั้งนี้วางแผนจะพัฒนาต่อยอดจาก Prototype เพื่อนำไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจข้อมูลที่ต้องให้ผู้ป่วยโรคหัวใจในการเก็บข้อมูล และศึกษาการเชื่อมต่อกับเครื่องมือในการเก้บข้อมูล และนำไปให้ผู้ป่วยทดลองใช้
สมาชิกทีม All Caring
นายสมพร ม่วงแพร นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ
นายอนรรฆ อินธิกูด นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ
นางสาวนิรชา พรมรอด นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ
นายศุภกิตติ์ บัวดอกไม้ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
ที่ปรึกษาทีม All Caring
อาจารย์กฤตภพ วรอรรคธรรม อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ
อาจารย์กิตติภพ ตันสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ
ดร. โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
คุณจิรวงศ์ โตโสม ผู้บริหารกลุ่มงานอาวุโส ศูนย์นวัตกรรมบริหารธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ
สมาชิกทีม Health Me
นายนรินธรณ์ คงเจ็ดเข็ม คณะบริหารธุรกิจ
นายกฤษณะ เมืองแสน คณะบริหารธุรกิจ
นายณรงค์เดช ขนนกยูง คณะบริหารธุรกิจ
นายจิรพงศ์ น้อยเรือง คณะบริหารธุรกิจ
นายวรเมธ ตันติธนวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
ที่ปรึกษาทีม Health Me
อาจารย์กฤตภพ วรอรรคธรรม อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ
อาจารย์กิตติภพ ตันสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ
อาจารย์ณิชยา ศรีสุชาต อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ
ผศ. ดร. พรรณเชษฐ ณ ลำพูน อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
คุณจิรวงศ์ โตโสม ผู้บริหารกลุ่มงานอาวุโส ศูนย์นวัตกรรมบริหารธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ