สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ร่วมกับ บริษัท แอร์โรคลาส จำกัด (AEROKLAS) ลงนามความบันทึกข้อตกลงความเข้าใจทางการศึกษา (MoU) สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา การวิจัยพัฒนา และการเรียนรู้ให้กับบุคลากรของทั้งฝ่าย โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ พร้อมด้วย คุณมะลิวรรณ กิตติวิริยะการ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอร์โรคลาส จำกัด เป็นประธานลงนาม พร้อมด้วยบุคลากรของทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันพุธที่ 3 สิงหาคม 2565 ณ ชั้น 16 อาคาร CP ALL Academy สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ
การลงนามครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ แอร์โรคลาส ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ตกแต่งรถกระบะครบวงจร มาตรฐานระดับสากล และเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญามากกว่า 1,000 รายการทั่วโลก ในการเสริมสร้างการศึกษา การเรียนรู้ทางด้านวิศวกรรมให้กับนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ การแลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนาหลักสูตร งานวิจัย การอบรม สัมมนา พร้อมสนับสนุนแหล่งฝึกปฎิบัติงาน และอื่นๆ อันเป็นประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า “บทบาทหน้าที่ของพีไอเอ็มในฐานะที่เป็น Corporate University มีรูปแบบการศึกษาที่เรียกว่า Work-based Education เรียนทฤษฎีผสานการฝึกปฎิบัติงานจริงประกอบด้วย 3 แนวคิดคือ Work-based Learning, Work-based Teaching และ Work-based Researching เพื่อผลิตบัณฑิตพร้อมทำงาน (Ready to Work) ทั้งนี้เรายังเป็น Networking University สร้างเครือข่ายทางการศึกษาทั่วโลกทั้งสถานศึกษา หน่วยงานราชการ สำหรับความร่วมมือนี้นับเป็นโอกาสที่ดีแก่นักศึกษาวิศวะที่จะได้ไปฝึกงานอย่างจริงจังกับบริษัทระดับสากล เพื่อให้ได้ค้นพบเส้นทางของตัวเอง ว่าชอบอะไร และมีเป้าหมายอย่างไร ในนามของพีไอเอ็มขอขอบพระคุณอย่างยิ่งที่ได้สร้างความร่วมมืออย่างเป็นทางการครั้งนี้”
คุณมะลิวรรณ กิตติวิริยะการ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอร์โรคลาส จำกัด กล่าวว่า “มีความยินดีที่ได้ทำความร่วมมือกัน แอร์โรคลาสมีวิสัยทัศน์เช่นเดียวกับพีไอเอ็มคือสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกับทำงาน โดยมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพอยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจและประเทศ เราจะเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คนรุ่นใหม่ สร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งภารกิจนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายใหม่ของแอร์โรคลาสเช่นกัน”
ขณะเดียวกันความร่วมมือดังกล่าวยังเป็นการสร้างโอกาสและยกระดับมาตรฐานการศึกษา พัฒนาบุคลากร ให้มีทักษะด้านวิศวกรรมของประเทศ ให้ตอบโจทย์กับความต้องการผู้มีความรู้และเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันระดับภูมิภาคและระดับประเทศได้ในระยะยาว