คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจการบิน สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) โดย รองศาสตราจารย์ ดร. สมโรตม์ โกมลวนิช รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย, รักษาการคณบดี คณะวิทยาการจัดการ พร้อมด้วย อาจารย์อรทัย เกียรติวิรุฬห์พล หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการธุรกิจการบิน คณะวิทยาการจัดการ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับ บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จํากัด (TFT) หน่วยธุรกิจภายใต้กำกับของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำโดย เรืออากาศโท กัปตันอิทธิพล เจริญสุข กรรมการผู้จัดการ และ กัปตัน ดร.ธนะพัฒน์ ศิริจารุอนันต์ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ เพื่อจัดทำการวิจัยและวิชาการภายใต้โครงการ “เครือข่ายวิจัยการบินแห่งชาติ” พัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมในสายงานอุตสาหกรรมการบริการ และอุตสาหกรรมการบิน ผ่านการวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการด้านการบิน การบริการ การท่องเที่ยว ที่ทันสมัย ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ของสาขาวิชาการจัดการธุรกิจการบิน คณะวิทยาการจัดการ โอกาสนี้คณะผู้บริหารทั้งสองฝ่ายและคณาจารย์ ได้เข้าร่วมพิธี เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน 2565 ณ อาคาร CP All Academy สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ
รองศาสตราจารย์ ดร. สมโรตม์ โกมลวนิช รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย รักษาการคณบดีคณะวิทยาการจัดการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) กล่าวว่า “พีไอเอ็มเป็น Corporate University อยู่ภายใต้และทำงานร่วมกับสถานประกอบการอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างบัณฑิตมืออาชีพมาตลอดหลายปี พีไอเอ็มขยายขอบเขตความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ เพิ่มขึ้น เพื่อออกแบบหลักสูตรร่วมกันภายใต้รูปแบบ Work-based Education ซึ่งไม่ได้เรียนเพียงทฤษฎีอย่างเดียว แต่ยังพัฒนาให้นักศึกษามีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และมี Work Skills โดยเรียนสลับการฝึกปฎิบัติงานไปจนถึงปี 4 ในขณะเดียวกันก็ทราบว่า TFT คล้ายกับพีไอเอ็ม ที่เรียนทฤษฎีและฝึกปฎิบัติจริงเหมือนกัน สำหรับอนาคตหากมีโครงการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาก็ยินดีที่จะสานต่อร่วมมือ”
เรืออากาศโท กัปตันอิทธิพล เจริญสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จํากัด เปิดเผยว่า “TFT คือหน่วยธุรกิจภายใต้กำกับของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการด้านการฝึกอบรมบุคคลากรด้านการบินและการบริการอย่างมืออาชีพ มีความยินดีที่ได้เซ็น MoU ร่วมกับพีไอเอ็ม เพื่อพัฒนาทั้งนักศึกษาและบุคลากรให้มีความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ งานวิจัย ที่เกี่ยวข้องในวงการอุตสาหกรรมการบิน โดยหวังว่าความรู้ และทักษะต่างๆ จะเป็นประโยชน์แก่บุคลากรของทั้ง 2 ฝ่าย และของประเทศต่อไปในอนาคต”
การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว จะเสริมสร้างศักยภาพของนักศึกษาสาขาวิชาการจัดการธุรกิจการบิน พีไอเอ็ม ให้มีคุณภาพในระดับสากล จะเป็นเครื่องมือสำคัญต่อยอดการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่จะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้เป็นศูนย์กลางของธุรกิจด้านการบิน อุตสาหกรรมบริการ และการท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล