คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ร่วมแสดงศักยภาพความรู้ ความสามารถด้านสุขภาพและสาธารณสุข ในงาน Thailand International Health Expo 2022 เพื่อลงนามความร่วมมือ (MOU) การสนับสนุนธุรกิจบริการสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ เพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจบริการสุขภาพ การท่องเที่ยว ภูมิปัญญาสุขภาพ รวมถึงการจัดนิทรรศการ “Lanna Wellness Hub” (ผญ๋าล้านนา ผาสุข) เผยแพร่ภูมิปัญญาไทยล้านนา ส่งเสริมการใช้สมุนไพร ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการ พร้อมกันนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาศาสตร์สุขภาพและรักษาการคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ ศาสตราจารย์ ดร.อารีวรรณ กลั่นกลิ่น อาจารย์และรักษาการผู้อำนวยการงานวิจัยและนวัตกรรม คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้รับเกียรติเป็นวิทยากรพิเศษในการเสวนา หัวข้อ Lanna Wellness Wisdom (ภููมิปัญญาสุขภาพล้านนา) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม 2565 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
Thailand International Health Expo 2022 งานแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านการแพทย์ และสาธารณสุขของไทย รวมถึงยกระดับการแพทย์แผนไทย ตลอดจนความพร้อมของประเทศสู่การก้าวเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสาธารณสุขของโลก (Medical and Wellness Hub) โดยได้รับเกียรติจาก คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิด ภายในงานมีการจัดนิทรรศการสินค้า บริการด้านสุขภาพ นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่น่าสนใจ เวทีสัมมนาความรู้ด้านสุขภาพ และพิธีลงนามความร่วมมือการสนับสนุนธุรกิจบริการสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ระหว่าง คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย, สมาคมไทยล้านนาสปา, สมาคมสปาและเวลเนสภาคตะวันออก, สมาคมสปาสมุย, สมาคมสปาเพื่อสุขภาพภูเก็ต และสมาคมผู้ประกอบการสปาไทย เพื่อสนับสนุนความรู้ สร้างความร่วมมือด้านบุคลากร นำภูมิปัญญาสุขภาพมาช่วยส่งเสริมสุขภาพและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันนิทรรศการ Lanna Wellness Hub (ผญ๋าล้านนา ผาสุข) จัดแสดงภายใต้แนวคิด “ภูมิปัญญาเป็นศรี สุขวิถีล้านนา ธรรมชาติล้วนงามตา หอมกลิ่นคุณค่าอารยธรรม” ให้บริการแก่ผู้ที่สนใจได้นวดตอกเส้น ศาสตร์การนวดพื้นบ้านคลายกล้ามเนื้อ และกิจกรรมการประเมินภาวะอารมณ์ คลื่นสมองที่สัมพันธ์กับกลิ่นป่าและพฤกษานานาพรรณ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิทยาศาสตร์สุขภาพและรักษาการคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่านับเป็นโอกาสดีที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว จะร่วมมือกันยกระดับภูมิปัญญาไทยมาช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบ Medical and Wellness Tourism ซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการให้ปรับตัวรองรับการท่องเที่ยวยุคใหม่แล้ว ยังก่อให้เกิดการพัฒนา ต่อยอดผลิตภัณฑ์ การบริการ ส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรมไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ และทุกภาคีที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางต่อยอดได้ รวมทั้งสรรค์สร้างกิจกรรมและโครงการวิจัยที่เป็นประโยชน์ ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแห่งใหม่ต่อไป
ด้านการเสวนา Lanna Wellness Wisdom (ภููมิปัญญาสุขภาพล้านนา) โดยผู้เชี่ยวชาญจาก สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), คณะพยาบาลศาสตร์ พีไอเอ็ม, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาคมไทยล้านนา สปา กล่าวถึงความต้องการผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไทยให้เกิดมรรคผล เป็นไปตามนโยบายของรัฐที่กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ โดยยกตัวอย่าง Lanna Wellness Hub เป็นความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ต้องการให้สมุนไพรไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ หากจะก้าวสู่สากลได้นั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการศึกษาที่เข้ามามีส่วนร่วมทำวิจัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผลิตภัณฑ์และการบริการ ทั้งนี้ยังตั้งเป้าจะนำสปาล้านนาให้บริการในทุกโรงแรม ทุกภูมิภาค เพื่อส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรมไทย และช่วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน โดยมีผู้สนใจเข้าชมและเข้าฟังผ่านทางช่องออนไลน์ในโอกาสนี้