7 มหาวิทยาลัย ร่วมกับ เพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป และ เซเว่น อีเลฟเว่น เปิดตัวโครงการ “ถังขยะอัจฉริยะ” (Circular Bin) สำหรับใช้บนแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่น “กรีนทูเก็ท”(Green2Get) กว่า 40 แห่งที่หน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่นใน 7 มหาวิทยาลัยในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล เพื่อช่วยแนะนำวิธีการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง ง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว ต่อยอดไอเดียคนรุ่นใหม่ให้ใช้ได้จริง
นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล กรรมการผู้จัดการ (ร่วม) บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหาร เซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า เซเว่น อีเลฟเว่นได้ดำเนินโครงการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายใต้นโยบาย เซเว่น โก กรีน เพื่อสิ่งแวดล้อม 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ปี 2550 เพื่อลด และ เลิก ใช้ถุงพลาสติกที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทั่วประเทศเพื่อสังคม ชุมชน และประเทศชาติ อย่างยั่งยืน
และเพื่อเป็นการสานต่อแนวคิด “ปลูกจิตสำนึกเพื่อสิ่งแวดล้อม” ในการรณรงค์และเชิญชวนลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เซเว่น อีเลฟเว่นจึงได้จัดให้มีโครงการ “ถังคัดแยกขยะ” เพื่อรณรงค์ให้คนไทยช่วยกันคัดแยกขยะพลาสติก เพื่อนำขยะพลาสติกเข้าสู่กระบวนการตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy อย่างยั่งยืน โดยการวางถังคัดแยกขยะบริเวณด้านหน้าร้านสาขากว่า 12,000 สาขาทั่วประเทศ
ล่าสุด เซเว่น อีเลฟเว่น ได้เปิดตัวโครงการ “Circular Bin จาก Application Green2Get” 7 มหาวิทยาลัย ร่วมกับ 7 GO Green ร่วมกับ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป เพื่อประสานความร่วมมือผลักดันโครงการนวัตกรรมที่เกิดจากไอเดียของคนรุ่นใหม่นำไปสู่การรณรงค์ให้เกิดการแยกขยะที่ถูกต้อง
โดยโครงการ “Circular Bin จาก Application Green2Get” 7 มหาวิทยาลัย ร่วมกับ 7 GO Green ร่วมกับ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป นี้เป็นความร่วมมือระหว่าง เพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป , เซเว่น อีเลฟเว่น และ 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) โดยคุณชิพาสุข สุนทรมณฑล รองผู้อำนวยการ สำนักกิจการนักศึกษา พีไอเอ็ม ร่วมกันนำร่องโครงการเปลี่ยนถังขยะหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่นแบบเดิมกว่า 40 แห่งเป็นถังขยะอัจฉริยะ หรือ Circular Bin ทำงานร่วมกับแอฟพลิเคชั่นกรีนทูเก็ท (Green2Get Application) โดยผู้ใช้สแกนบาร์โค้ดสินค้าใดๆ บริเวณหน้าถัง แอปฯ จะบอกวิธีการคัดแยกและถังที่ควรทิ้งให้ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้ขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy อย่างมีประสิทธิภาพ
เซเว่น อีเลฟเว่น ขอเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและส่งเสริมไอเดีย แนวคิดเพื่อให้เกิดการกระตุ้นให้เยาวชนคนรุ่นใหม่คิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยในเรื่องของการดูแล และรักษาสิ่งแวดล้อมตามปณิธานของซีพี ออลล์ “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” นายยุทธศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน เปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป กล่าวถึงโครงการนี้ว่า แอพลิเคชั่น Green2Get ได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากหน่วยบริหารและจัดการต้นทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้บริโภคในการช่วยคัดแยกขยะให้ง่ายขึ้น เพียงผู้ใช้งานสแกนบาร์โค้ดสินค้าก็จะพบวิธีการคัดแยกรวมถึงวัสดุที่แยกได้และสามารถหาผู้รีไซเคิลที่ต้องการวัสดุนั้นๆ ที่อยู่ใกล้ตัวได้
โดยในเบื้องต้นคู่มือการคัดแยกขยะจะถูกสร้างขึ้นโดยผู้ใช้งานช่วยกันทำฐานข้อมูลสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าพร้อมวิธีการคัดแยกขยะ จำนวนกว่า 25,000 ชิ้น ในระบบ โดยอนาคตจะเปิดให้ผู้ผลิตซึ่งเป็นเจ้าของสินค้านั้นๆเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเองและเป็นผู้สนับสนุนการหมุนเวียนสินค้าของตนเองได้ และหลังจากทางผู้ออกแบบจะนำผลทการทดลองใช้จริงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาฟีเจอร์ใหม่เพื่อใช้ข้อมูลที่มีอยู่ตอบโจทย์การคัดแยกขยะให้กับคนทั่วไปต่อไป
โดยภายในงานเปิดตัว “Circular Bin จาก Application Green2Get” 7 มหาวิทยาลัย ร่วมกับ 7 GO Green ร่วมกับ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ได้รับเกียรติจาก นางจงรักษ์ ฐินะกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมและเผยแพร่ และผู้อำนวยการกองส่งเสริมความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ ดร.ชัยพล จันทะวัง ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการเยาวชนและลูกเสือ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมงาน
และยังมีตัวแทนน้องเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีทั้งความรู้ ความสามารถและได้รับคัดเลือกจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ารับรางวัล ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน เนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2564 มิกซ์ สหภาพ วงศ์ราษฎร์ ศิลปินในสังกัด GMM มาร่วมพูดคุยถึงวิธีการคัดแยะขยะพลาสติกง่ายๆด้วยตัวเอง พร้อมเชิญชวนนิสิตนักศึกษาร่วมทดลองใช้แอพลิเคชั่น กรีนทูเก็ท (Green2Get) เพื่อลุ้นเป็นส่วนหนึ่งในงานแฟนมีตติ้ง ปลูกต้นไม้ในช่วงเดือนมกราคม 2565 อีกด้วย
โดยผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด แอพลิเคชั่น กรีนทูเก็ท (Green2Get) ได้ทาง App Store และ Play Store
Cr.www.cpall.co.th