ขอแสดงความยินดีกับนักศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) “ทีม The Sakana Ville : เราคือคนขายปลากัดที่ไม่ใช่เพียงปลากัดธรรมดา” ที่ผ่านการคัดเลือกเป็น 15 ทีม จากทั่วประเทศ รอบ Prototype to Company ผ่านระบบออนไลน์ MS TEAM ในกิจกรรม Smart Start Idea by GSB Startup 2564 ภายใต้โครงการ GSB Micropreneur Academy ประจำปี2564ธนาคารออมสิน รับรางวัลสนับสนุน 50,000 บาท สำหรับต่อยอดธุรกิจจริง
โดยสมาชิกทีม “The Sakana Ville : เราคือคนขายปลากัดที่ไม่ใช่เพียงปลากัดธรรมดา”นำโดย นายแทนไท ทรัพย์วิไล นักศึกษาชั้นปี 2 บริหารงานด้านการทำธุรกิจสัตว์น้ำสวยงาม นางสาวอัจฉรีย์ ทวีชัย นักศึกษาชั้นปี 4 บริหารงานด้านการเงินและการบัญชี นักศึกษาคณะเกษตรนวัตและการจัดการ นางสาวจิตรา ชาติบุตร บัณฑิตคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร บริหารงานด้านเทคโนโลยีและสื่อวิดีทัศน์ นายกฤษฎา ทองพันลำ ชั้นปี 4 คณะบริหารธุรกิจ บริหารงานด้านการตลาดและการวางแผนกลยุทธ์ และอาจารย์ที่ปรึกษา ดร.ณภัทร กำธรสิริวิมล อาจารย์ประจำ คณะเกษตรนวัตและการจัดการ ซึ่งจุดเริ่มต้นเกิดการรวมตัวของนักศึกษาและอาจารย์ที่ได้เข้าร่วมโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น กิจกรรมส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มองค์กรชุมชน ประเภทกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และได้ลงพื้นที่ร่วมกับชุมชนที่ทำธุรกิจจำหน่ายสัตว์น้ำสวยงามจึงมองเห็นถึงปัญหาของเกษตรกรที่มีข้อจำกัดในด้านของเวลาและการใช้เทคโนโลยี ทำให้เกษตรกรในวิสาหกิจชุมชนร่วมมือกับนักศึกษาคิดหาวิธีและพัฒนาช่องทางการจำหน่ายที่มั่นคงตลอดจนต่อยอดจนเกิดเป็นธุรกิจ STARTUP เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม ธุรกิจจำหน่ายปลากัดที่ผสมผสานศาสตร์ด้านโหราศาสตร์ของไทย เพื่อเสริมกำลังใจด้านต่างๆ ให้กับผู้เลี้ยงและเลี้ยงปลากัดอย่างมีความสุข
สำหรับความสำเร็จในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากดร.ณภัทร กำธรสิริวิมล อาจารย์ประจำ คณะเกษตรนวัตและการจัดการ ที่ร่วมผลักดันเเละพาทีมลงพื้นที่จริง สัมผัสวิถีชีวิตของเกษตรกร และสอนในเรื่องของการทำธุรกิจจำหน่ายสัตว์น้ำสวยงาม สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการได้สัมผัสประสบการณ์จริง เรียนรู้จริง เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต่อยอดโครงการให้เกิดประสิทธิผลพร้อมได้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ นำโดย คุณสิรินุช ฉิมพลี คุณอธิสรรค์พุ่มชูศรี เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์สวยงามและต้นไม้น้ำ คุณนิติโรน์ กิจเจริญ และคุณกนกวรรณ นพพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ไทย ให้เกียรติเป็นที่ปรึกษาและเสริม องค์ความรู้เรื่องการผลิตและความรู้เชิงลึกที่เกี่ยวกับปลากัด ผนวกกับการบูรณาการร่วมกับศาสตร์ที่นักศึกษาได้รับการบ่มเพาะจากการเรียน เช่น ด้านการตลาด การจัดการเกษตร เทคโนโลยี เป็นต้น ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การเรียนรู้ที่จะประมวลผลที่ดำเนินโครงการ เข้าใจในการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น สามารถสร้างรายได้ ประกอบอาชีพ และยังคงร่วมพัฒนาพร้อมเติบโตไปด้วยกันกับชุมชน
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งให้การสนับสนุนกลุ่มคนรุ่นใหม่ นิสิต/นักศึกษา ระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก ที่มีความสนใจเริ่มธุรกิจ มีพื้นที่แห่งการเรียนรู้ การสร้างสรรค์นวัตกรรม การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายธุรกิจ ร่วมคิดไอเดียสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าหรือบริการภายใต้หัวข้อที่ธนาคารกำหนด เพื่อรับทุนการศึกษาและต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นสินค้าหรือบริการได้จริง และพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการ SMEs Start up ในอนาคต สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้รับความร่วมมือจากงานส่งเสริมนักศึกษานวัตกรและการเป็นผู้ประกอบการ สำนักบริหารกลยุทธ์และนวัตกรรม พีไอเอ็ม สนับสนุนในด้านการเชื่อมเครือข่ายกับธนาคารออมสิน เฟ้นหานักศึกษาที่มีความมุ่งมั่น สนใจอยากทำธุรกิจจริง ถือเป็นเวทีที่นักศึกษาจะได้เริ่มต้นสู่ของการเป็น Micropreneur หรือ ผู้ประกอบการรายเล็ก อย่างเต็มตัวรวมถึงพัฒนาและต่อยอดธุรกิจให้เกิดขึ้นจริงและยั่งยืนต่อไป