จากความร่วมมือทางวิชาการโครงการฝึกปฏิบัติและบรรจุงาน ระหว่าง สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ร่วมกับเทศบาลเมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนการศึกษา การฝึกปฎิบัติงาน การวิจัย การแลกเปลี่ยนบุคลากร การจ้างงานของนักศึกษาในอนาคต และส่งเสริมการสร้างวิศวกรรุ่นใหม่ภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพพร้อมทำงานในระดับสากล เพื่อตอบโจทย์นโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยและญี่ปุ่น การขยายตัวของอุตสาหกรรมในเมืองคิตะคิวชซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ล่าสุด พีไอเอ็มและบริษัท ICS SAKABE Co.,Ltd. (เขตโคคุระคิตะ) ได้รับการเสนอข่าวผ่านเว็บไซต์ Yahoo Japan คอลัมน์ข่าวในประเทศ https://bit.ly/3hNApZX และหนังสือพิมพ์รายวันของญี่ปุ่น Mainichi Shimbun(毎日新聞) เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา สัมภาษณ์ถึงประสบการณ์ นายวสลักษณ์ พงโศธร สาขาวิศวกรรมการผลิตยานยนต์ คณะวิศวะกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี หนึ่งในนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ ปัจจุบันจบการศึกษาในรุ่นที่10 ได้รับการบรรจุงานหลังจบโครงการฯ
“วิศวกรหนุ่มชาวไทย จากนักศึกษาฝึกงานสู่พนักงานฝ่ายเทคนิค โดยดำเนินการภายใต้เทศบาลเมืองคิตะคิวชู”
วิศวกรหนุ่มจากประเทศไทยประจำแผนกเทคนิคในสถานประกอบการธุรกิจหุ่นยนต์ทั้งขนาดกลางและเล็กภายในเทศบาลเมืองคิตะคิวชู ซึ่งเมืองนี้รับนักศึกษาฝึกงานจากประเทศไทยและกว่า 80% ของนักศึกษาที่เข้าร่วมได้รับการจ้างงานต่อ โครงการนี้ยังช่วยเหลือเรื่องปัญหาด้านการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล โดยการขยายเครือข่ายรับบุคลากรจากต่างประเทศอีกด้วย
นายวสลักษณ์ พงโศธร (อายุ 22 ปี) วิศวกรเทคนิค บริษัท ICS SAKABE Co.,Ltd. (เขตโคคุระคิตะ) กล่าวว่า “ตอนนี้กำลังติดตั้งแผงควบคุมและเดินสายระบบไฟฟ้าอยู่ และตั้งใจจะเรียนรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์เพิ่ม ผมเคยมีประสบการณ์ฝึกงานที่นี่เป็นเวลา 4 เดือน ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงเมื่อปี 2019 ตอนที่ยังเป็นนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ประเทศไทย แม้ว่าจะเกิดความล่าช้าเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ก็ได้รับการตอบรับเข้าทำงานในเดือนมกราคม 2021”
เทศบาลเมืองคิตะคิวชูได้เริ่มโครงการรับนักศึกษาฝึกงานจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ปีละ 5-6 คน เพื่อฝึกงานในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก และมีโอกาสได้ฝึกงานกับเพื่อนนักศึกษาวัยเดียวกันจากวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งชาติคิตะคิวชู (NIT KIT)
เมื่อเปรียบเทียบกับสถานประกอบการขนาดใหญ่ การรับประกันคุณภาพ ความสามารถของวิศวกรหนุ่มสาวก็ยังเป็นปัญหาทั่วไปสำหรับสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก Mr. SAKABE Yoshinori ประธานบริษัท ICS SAKABE Co.,Ltd. ซึ่งสนับสนุนพนักงานสายการผลิตกว่า 27 คน กล่าวว่า “เป็นเรื่องยากที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป ในขณะที่พนักงานที่มีอายุทยอยลาออก” แม้ว่าท่านยังไม่เคยมีโอกาสได้ร่วมงานกับผู้มีความสามารถจากต่างประเทศ แต่ก็ยังเลือกนักศึกษาฝึกงานที่ทางเทศบาลเมืองสนับสนุน
จากข้อมูลของเทศบาลเมือง ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา รับนักศึกษาฝึกงานทั้งหมด 16 คน และสถานประกอบการรับเข้าทำงานต่อ 13 คน ซึ่ง Mr. SAKABE ได้รับนักศึกษาทั้งชายและหญิง 3 คน หนึ่งในนั้นคือนายวสลักษณ์ ทั้งยังชื่นชมว่า “รู้สึกประทับใจอย่างยิ่งที่เขามีทักษะที่ไว้ใจได้และจิตวิญญาณที่ใฝ่หาการเรียนรู้”
คุณวสลักษณ์มีเป้าหมายในอนาคตที่จะกลับมาเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และดิจิตัลในประเทศไทย Mr. SAKABE ยังกล่าวอีกว่า “หากได้ร่วมพัฒนาด้วยกัน ก็จะช่วยเหลือสุดความสามารถ”
นอกจากนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์และวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งชาติคิตะคิวชูได้ลงนามความร่วมมือร่วมกันระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่ปีค.ศ. 2021 ในการรับนักศึกษาฝึกงาน ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายนนี้กำลังจะรับนักศึกษาฝึกงานรุ่นที่ 4 ทั้งชายหญิง 8 คน ท่านอาจารย์ใหญ่ Mr. HONGO Tetsuyuki กล่าวว่า “ผมอยากให้ความร่วมมือกับ PIM และทางเทศบาลเมือง ในการพัฒนาบุคลากรสู่โลกต่อไป”