
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ร่วมกับ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จัดโครงการ Startup Prototype Showcases of the Entrepreneurial University 2021 การเฟ้นหานักศึกษาแต่ละสถาบันการศึกษาได้บ่มเพาะไอเดียสู่ Prototype เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษานำเสนอแนวคิด แสดงผลงาน ต่อกลุ่มนักลงทุนและผู้สนใจสตาร์ทอัพ อีกทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจ พัฒนาเป็นสตาร์ทอัพเริ่มต้นที่สร้างมูลค่า ช่วยผลักดันการสร้างธุรกิจนวัตกรรมให้มีความเข้มแข็ง ทั้งนี้พีไอเอ็มส่งนักศึกษาเข้าแคมป์อบรมความรู้ภายใต้การให้คำปรึกษาจากพี่เลี้ยงผู้ประกอบการจนถึงรอบ Pitching นำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการรูปแบบออนไลน์ โดยมีตัวแทนนักศึกษาได้รับคัดเลือกในระดับภูมิภาคถึง 7 ทีม ได้แก่ ทีมเยาวรุ่น, ทีม Jingjer Team, ทีม Amandus, ทีม Revolution, ทีม FingerTrade, ทีม WayWii Way We Together

ตลอดระยะเวลา 9 เดือน พีไอเอ็ม และ NIA ทำงานร่วมกันต่อเนื่องกับโครงการ “Startup Prototype Showcases of the Entrepreneurial University 2021” โดยสำนักกลยุทธ์และนวัตกรรม ร่วมขับเคลื่อนโครงการอย่างเข้มข้นกับทุกคณะวิชา สรรหานักศึกษาที่สนใจเข้าแคมป์ติวเข้มเนื้อหาด้านสตาร์ทอัพ พร้อมทั้งจัดหาที่ปรึกษาด้าน บัญชี การเงิน กฎหมาย และติดตามการดำเนินงาน ไปจนถึงรอบ Pitching มีเป้าหมายหวังยกระดับทักษะและความสามารถทางนวัตกรรมเทคโนโลยี และถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างมาตรฐานแก่นักศึกษาให้ก้าวสู่สตาร์ทอัพระยะ Pre-Seed ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณค่าและผลักดันการสร้างธุรกิจมีความเข้มแข็งสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยทั้ง 7 ทีมนำเสนอสุดยอดไอเดียตอบโจทย์วิถีชีวิตคนในสังคม อาทิ การบริการ ไลฟ์สไตล์ เทคโนโลยีการศึกษา การเกษตร อาหาร และสุขภาพ เข้าตากรรมการได้รับคัดเลือกผ่านเข้ารอบระดับประเทศ พร้อมได้รับเงินทุนสนับสนุนสำหรับจัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ (Prototype) ได้แก่
ไอเดียประเภท Business Service

ทีมเยาวรุ่น คณะบริหารธุรกิจ
ศูนย์รับเลี้ยงสัตว์ พร้อมแพลตฟอร์มที่เป็นสื่อกลางระหว่างลูกค้าและศูนย์ดูแลสัตว์เลี้ยง จุดเด่นคือการบริการรถรับ-ส่ง สัตว์ถึงบ้าน มีกล้องแบบเรียลไทม์สามารถดูสัตว์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง บริการตรวจสุขภาพ บึนทึกประวัติสุขภาพ อาบน้ำตัดขน รวมถึงการฝากเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน เมื่อเจ้าของไม่อยู่

ทีม Amandus คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร, คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
แพลตฟอร์มซื้อขายปลากัดที่ทรงคุณค่ามากกว่าปลากัดธรรมดา ผ่านรูปแบบออนไลน์สร้างมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ที่มีความเชื่อในเรื่องการเสริมบารมีโดยการเลี้ยงปลาในที่พักอาศัยหรือที่ทำงาน

ทีม WayWii Way We Together คณะบริหารธุรกิจหลักสูตรนานาชาติ, คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี, คณะนิเทศศาสตร์
WayWii คือ ไอเดียที่มุ่งหวังจะพัฒนาให้กลายเป็นแอปพลิเคชัน มีเป้าหมายทําให้การเดินทางในชีวิตประจําวันประหยัดค่าใช้จ่ายและสะดวกสบายมากขึ้น โดยมีนิยามว่า “ความสะดวกสบายที่เอื้อมถึงได้ในราคาที่ประหยัด” ซึ่งแอปพลิเคชั่นมีหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างบุคคลหนึ่งกับอีกบุคคลหนึ่ง ที่ต้องการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เพื่อเฉลี่ยค่าเดินทางร่วมกัน
ไอเดียด้าน Lifestyle

ทีม Jingjer Team คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
แอปพลิเคชันแฟชั่น เลือกสไตล์และค้นหาเสื้อผ้าจากร้านค้าให้กับผู้ใช้งานด้วยระบบ AI Deep Learning อีกทั้งยังมีช่องทางให้ผู้ใช้งานสามารถพูดคุยกับดีไซเนอร์ส่วนตัว เพื่อออกแบบเสื้อผ้าตามแบบที่ผู้ใช้งานชื่นชอบ
ไอเดียด้าน Government Tech & Education Tech

ทีม Revolution คณะบริหารธุรกิจ, คณะบริหารธุรกิจหลักสูตรนานาชาติ, คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
เกมส์จำลองการสร้างธุรกิจ Market War ที่จะทำให้ผู้เล่นได้ความรู้การเป็นประกอบการ ตั้งแต่การหา Pain Point ไปถึงการขายสินค้าและบริการผ่าน Market War โดยมีโค้ชคอยให้คำปรึกษา ดูแลการพัฒนา ต่อยอด รวมถึงการหา Investor ทั้งนี้ได้มีการเรียนรู้จากไอเดียเดิมที่ต้องการทำ Market ให้กับผู้ประกอบการไทยที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิด “ใครไม่นัด ตลาดนัด” จนเจอต้นต่อของปัญหา คือ การขาดความรู้การเป็นผู้ประกอบการ ทั้งการวางแผนธุรกิจ วัตถุดิบ การตลาด ฉะนั้นการศึกษาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องบ่มเพาะและปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กและผู้ที่สนใจเริ่มต้น
ไอเดียด้าน Agriculture Tech & Food Tech

ทีม FingerTrade คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร, คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี แพลตฟอร์มค้าส่งสินค้าเกษตรออนไลน์ ทำให้เกษตรกรสามารถตั้งราคาขาย และขายได้ในราคาที่สูงขึ้น ผู้ซื้อจะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นกับการขนส่งสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพถึงหน้าบ้านคุณ ยกระดับมาตรฐานการค้าส่งสินค้าเกษตรจากระบบออฟไลน์สู่ระบบออนไลน์ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
ไอเดียด้าน Health Tech

ทีม ADD คณะบริหารธุรกิจ, คณะการจัดการโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง
Automatic drug dispensing system หรือระบบห้องจ่ายยาอัตโนมัติที่รวมเทคโนโลยี 2 ระบบใช้งานร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้แก่ ระบบ ADD: Automatic Drug Dispenser เครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ และระบบ Pick to light เพื่อลดภาระหน้าที่ของบุคลากรในห้องจ่ายยาให้น้อยลงจากการทำงานหลายขั้นตอน รวมถึงเพิ่มศักยภาพการจัดยาให้มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และสามารถลดความแออัดของผู้ป่วยที่รอหน้าห้องจ่ายยา

นโยบายระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องการพัฒนาสตาร์ทอัพที่สามารถใช้ทรัพยากรของประเทศในการผลิตสินค้า การบริการ การจ้างงาน และการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค โดยเร่งดำเนินการให้เพิ่มบทบาทแก่มหาวิทยาลัยถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับเศรษฐกิจของประเทศ เช่นเดียวกับพีไอเอ็มที่ตื่นตัวกับเทรนด์อุตสาหกรรมของประเทศอยู่ตลอดเวลา มุ่งผลักดันให้สถาบันเป็นแหล่งความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม มีการอบรมความรู้ วิชาการ การบริหาร การจัดการ จากบุคลากรผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง ส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาให้มีศักยภาพพร้อมทำงานทุกด้าน และเข้าใจธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วม