ไทเกอร์ – วสลักษณ์ พงโศธร ว่าที่บัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมการผลิตยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบัน วิศวกรเทคนิค บริษัท ICS Sakabe Co.,Ltd. ประเทศญี่ปุ่น
Choose your life, Chase your dream at PIM
“เลือก” ชีวิตที่ใช่ ไล่ตามความฝันที่ “พีไอเอ็ม”
Life
ผมเรียนที่โรงเรียนสายปัญญา รังสิต ตอนจะจบ ม.6 มีพี่แนะแนวพีไอเอ็มเข้าไปให้ข้อมูลที่โรงเรียน ทำให้เกิดความสนใจ เพราะที่บ้านพ่อแม่ทำงานด้านยานยนต์อยู่แล้ว ตัวผมเองก็สนใจเรื่องเครื่องยนต์กลไกตั้งแต่เด็ก พอทราบว่าที่นี่มีสาขาวิชาวิศวกรรมการผลิตยานยนต์ซึ่งตรงกับความสนใจของผมพอดี จริงๆ ตอนนั้นก็ดูมหาวิทยาลัยอื่นด้วย แต่ผมมองว่าถ้าเราตั้งเป้าหมายว่าอยากเรียนหรืออยากทำงานอะไรแล้ว เราก็ควรเลือกที่ๆ ให้โอกาสเราทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ ซึ่งหลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการ YCP ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันจากนักเรียนหลายแห่ง มีการแข่งขันและจัดกิจกรรมตามฐานต่างๆ รวมถึงการสัมมนาที่ทำให้มองเห็นโอกาสจากการฝึกงาน และการไปทำงานที่ต่างประเทศ อีกอย่างเพราะพีไอเอ็มเป็นมหาวิทยาลัยเปิดใหม่และมาแรง มีบัณฑิตที่จบแล้วได้งาน 98-99% คนที่ไปต่างประเทศก็มีโอกาสมากมาย ทำให้ผมตัดสินใจมาเรียนที่พีไอเอ็มครับ
ตั้งแต่ปี 1 ทำกิจกรรมค่อนข้างเยอะครับ เริ่มจากการประกวดดาว-เดือนคณะ เล่นดนตรีบนเวทีซึ่งผมถนัดเล่นเปียโน รวมถึงเข้าโครงการแอมบาสเดอร์ และประกวดดรัมเมเยอร์ครับ การทำกิจกรรมเหล่านี้ช่วยฝึกให้ผมเป็นคนกล้าพูด กล้าคิด และกล้าแสดงออกมากขึ้น จากเด็กที่ตอน ม.ปลายเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยพูด เรียนที่พีไอเอ็มผมได้ทุน 50% และจบด้วย GPAX 3.03 ครับ สำหรับบรรยากาศในการมาเรียนที่คณะ ตอนแรกก็ต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ เพราะเรียนที่พีไอเอ็มต้องมีการฝึกงานตลอด 4 ปี เพื่อนในคณะก็มาจากหลากหลายภูมิภาค แต่ในห้องเรียนจะช่วยเหลือกันดี อาจารย์สอนดีมาก ความรู้สึกเหมือนตอนเรียนมัธยมที่พอมีปัญหาอะไรทุกคนช่วยเหลือกัน
ประสบการณ์ฝึกงาน
ปี 1 ผมฝึกงานที่ 7-Eleven ครับ ทำหลายหน้าที่ทั้งเป็นแคชเชียร์ เติมของ สั่งของ จัดสต๊อก สิ่งที่เราได้คือฝึกความอดทน มนุษยสัมพันธ์ที่ดี และการเข้าใจงานบริการ
ปี 2 ฝึกงานที่ บจก.เค้งหงษ์ทอง เป็นการฝึกงานซ่อมบำรุงรถเมอร์เซเดสเบนซ์ ทำให้ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจวิชาที่เรียนตอนปี 2 มาใช้ลงมือปฏิบัติจริง เรารู้สึกว่าได้เพื่อนร่วมงานที่ดีมาก เพราะพี่ๆ เขาช่วยกันสอน ที่ประทับใจมากคือตอนแรกไปไม่ได้เงินเดือน แต่เราก็พิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเด็กฝึกงานจากพีไอเอ็มมีความอดทน ตั้งใจทำงาน เขาก็ให้เรารับงานเองได้ เบิกสต๊อกของเองได้ จนเดือนสุดท้ายที่ไปฝึกงานก็ให้เงินเดือนย้อนหลัง และพี่ๆ ก็รวบรวมเงินมาเลี้ยงเราด้วย รู้สึกประทับใจในส่วนนี้มากครับ
ปี 3 – ปี 4 จากเดิมที่ต้องฝึกงานในสายงานวิศวกรโรงงานอย่างจริงจัง ก็มีจุดเปลี่ยนคือโครงการไปฝึกงานที่คิตะคิวชูประเทศญี่ปุ่น ทำให้เปลี่ยนแผนไปฝึกงานที่ศูนย์วิจัย MTECH ศึกษาเกี่ยวกับถ่านกัมมันตภาพรังสีที่กักเก็บประจุไฟฟ้าในระบบรถยนต์สามเดือนแล้วกลับมาทำโปรเจ็คต์ ก่อนจะเดินทางไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่นต่ออีก 3 เดือนครับ
ประสบการณ์ฝึกงานที่คิตะคิวชู
ตอนแรกมีสองโครงการที่ผมสนใจคือ โครงการเรียนแลกเปลี่ยนที่โตเกียวและโครงการฝึกงานที่คิตะคิวชู แต่ปัญหาของผมตอนนั้นยังพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลย จึงเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นกับทางคณะ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการสัมภาษณ์กับประธานบริษัทที่บินมาจากญี่ปุ่น โครงการนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม เพราะที่นี่จะสอนให้เรากล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ถ้าเราหยุดพัฒนาตัวเองชีวิตเราก็จะอยู่แค่นั้น ถึงท้ายที่สุดเราจะไม่ผ่านเข้าโครงการ แต่การเรียนภาษาญี่ปุ่นก็จะฝึกให้เราเก่งภาษาขึ้นอย่างแน่นอน
หลังการสัมภาษณ์ผมได้ไปฝึกงานที่บริษัท ICS Sakabe Co.,Ltd.ในตำแหน่งวิศวกรฝ่ายผลิต เพราะสนใจเรื่องการผลิต เรื่องระบบไฟฟ้า เรื่องระบบอัตโนมัติในโรงงาน ที่เลือกโรงงานนี้เพราะทำเกี่ยวกับหุ่นยนต์และมีรุ่นพี่จากโครงการนี้ไปทำงานที่นี่ด้วย บริษัทอยู่ใกล้กับที่พักทำให้ไม่ต้องเดินทางเยอะ อีกทั้งมีแพลนจะมาเปิดสาขาที่เมืองไทยด้วยครับ
ประสบการณ์ทำงานกับคนญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นมีระเบียบมาก มีการจัดการที่ดี เขาจะสอนเราตั้งแต่ต้นกระบวนการจนจบกระบวนการ ทำให้เรารู้โปรเซสการทำงานทั้งหมด และทำให้เรามีความรู้ในองค์กรที่ดีว่าถ้าได้งานนี้ต้องทำงานประสานกับใครบ้าง ฝึกงานที่นี่อยู่ 3 เดือน จนกระทั่งสองหรือสามสัปดาห์สุดท้ายทางบริษัทก็บอกว่าเขารับเราเข้าทำงาน มีการคุยเรื่องสัญญา เงินเดือน และสวัสดิการต่างๆ
มาถึงวันนี้ผมคิดว่าเกินเป้าหมายครับ จากตอนแรกไม่คิดเลยด้วยซ้ำว่าจะได้มาทำงานที่ญี่ปุ่น คิดแค่ว่าเรียนจบแล้วจะเป็นวิศวกรในโรงงาน จริงๆ ที่บ้านก็อยากให้ทำงานต่างประเทศครับ ตั้งเป้าไว้แล้วว่าถ้าติดโครงการนี้ยังไงก็ต้องหาเงินไปให้ได้ พอได้งานนี้ก็ดีใจกันทั้งครอบครัว วางแผนว่าจะทำงานที่ญี่ปุ่นยาว 5 ปีค่อยกลับมาเมืองไทยตามที่บริษัทแพลนไว้ ถึงตอนนั้นก็และอาจจะทำธุรกิจของครอบครัวควบคู่ด้วยครับ
ไอดอลในการทำงาน
รองศาสตราจารย์ ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ เพราะผมรู้สึกชื่นชมอาจารย์ตั้งแต่เข้าโครงการ YCP อาจารย์ตอบคำถามได้สั้น ฉะฉาน ตรงประเด็น เข้าใจง่าย พอได้มาเรียนวิชาในสาขากับท่านยิ่งทำให้เกิดความประทับใจ และรู้มาว่าอาจารย์ก็เคยไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตอนแรกก็ไม่ได้ภาษาญี่ปุ่นเหมือนกัน แต่ค่อยๆ ฝึกฝนจนเก่ง สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ถึงระดับที่เรียกว่าเก่งมาก พิสูจน์ให้เห็นว่าที่พีไอเอ็มนั้นเต็มไปด้วยคนที่มีคุณภาพ
คติประจำใจ
ความพยายามไม่อาจนำมาซึ่งความสำเร็จ แต่ทุกความสำเร็จต้องอาศัยความพยายาม
Career
ความรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเป็นสิ่งที่เราต้องหาไปร่วมกัน การเรียนในห้องคือการพัฒนาสมอง ให้คิดได้เป็นระบบ คิดเป็นตรรกะมากขึ้น ทำอะไรก่อนหลัง ส่วนการที่เราได้มีโอกาสฝึกงานก็คือการที่เรานำสิ่งที่ได้จากการเรียนนั้นมาใช้ตอนทำงานนั่นเอง
10 เรื่องในอาชีพที่วิศวกรเทคนิคต้องรู้
• ความรู้เฉพาะทางในด้านนั้นๆ ความต่างกันของช่างกับวิศวกร วิศวกรจะได้ทั้งสายงานบริหารลูกค้าและปฏิบัติงานคือ ต้องตรวจสอบงานได้ ทุกอย่างต้องเป็นตัวเลข พิสูจน์ได้ ต้องมีเอกสารต่างๆ
• ความละเอียดรอบคอบ
• ความพยายามและอดทน
• ความรับผิดชอบ
• มนุษย์สัมพันธ์ที่ดี เพราะต้องคุยกับลูกค้า ช่าง เพราะถ้าเราเอาแต่สั่งก็อาจมีปัญหาได้
• มีระเบียบวินัย
• ตรงต่อเวลาและรักษาคำพูด นัดส่งงานต่างๆ ต้องชัดเจน รับผิดชอบคำพูดตัวเอง
• การรักษาความสะอาด
• วิศวกรเทคนิคจะต้องมีการเรียนรู้งานต่างๆ ให้บริษัท เพื่อเอาเทคนิคใหม่ๆ มาสอนให้พนักงานในบริษัท เพื่อเอามาใช้งานได้
• คิดเป็นระบบ
ทุนการศึกษา
ผมได้รับทุนพีไอเอ็ม 50% ตลอด 4 ปี โดยเงื่อนไขในการรับทุนคือการรักษาเกรดเฉลี่ยระหว่างเรียนไม่น้อยกว่า 2.00 ครับ