ก้าวไปกับคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม ฝึกประสบการณ์กับองค์กรพันธมิตรชั้นนำที่มีวิสัยทัศน์พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โลกอนาคต
Choose your life, Chase your dream at PIM
“เลือก” ชีวิตที่ใช่ ไล่ตามความฝันที่ “พีไอเอ็ม”
นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศ (Digital Information and Technology) จะได้ฝึกปฏิบัติงานกับองค์กรธุรกิจในอุตสาหกรรมดิจิทัล หนึ่งในอุตสาหกรรมอนาคตที่มีลักษณะพิเศษและมีความต้องการจ้างงานสูงสุดในปัจจุบัน โดยเน้นทักษะการทำงานที่ตรงกับสาขาวิชาชีพที่ต้องการทำดังนี้
1. ทักษะการจัดการ Database
สามารถจัดการระบบฐานข้อมูล (Database System) ออกแบบฐานข้อมูลด้วยเทคนิคต่างๆ ไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ ฝึกฝนทักษะการเขียนโปรแกรม และทดสอบโปรแกรมในเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นต่างๆ
2. ทักษะการดูแลระบบ Cloud & Blockchain
เรียนรู้ภาพรวมและการทำงานของระบบเครือข่าย การจัดเก็บข้อมูล การโปรแกรมระบบคลาวด์ และการประมวลผลออนไลน์ (Cloud Computing) สามารถเลือกใช้และดูแลให้บริการในเรื่องแพลตฟอร์ม การจัดเก็บข้อมูล และการบริการซอฟต์แวร์
ศึกษาเทคโนโลยีบล็อคเชน และฝึกฝนทักษะการจัดการความมั่นคงสารสนเทศและมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตรายในโลกออนไลน์ (Cyber Security) ให้ธุรกิจมีความคล่องตัวและเติบโตได้ด้วยการใช้ระบบดิจิทัล
3. ทักษะออกแบบเว็บไซต์และกราฟิก
สามารถออกแบบกราฟิก งานอินโฟกราฟิก และงานสื่อดิจิทัลต่างๆ ด้วยโปรแกรมกราฟิกและมัลติมีเดีย โดยมีความเข้าใจทางด้านการจัดองค์ประกอบ ภาพถ่ายดิจิทัล และการสร้าง Motion Graphic ที่นำไปใช้กับงานโฆษณา รายการโทรทัศน์ หรือในธุรกิจต่างๆ ได้
4. ทักษะการผลิตเกมและแอนิเมชั่น
ฝึกฝนทักษะในการสร้างโมเดลสามมิติและองค์ประกอบต่างๆ ในแอนิเมชั่น ศึกษาเทคนิคการเล่าเรื่องและการทำภาพเคลื่อนไหวด้วยโปรแกรมมัลติมีเดีย ตลอดจนการสร้าง Visual Effect นอกจากนั้นยังมีการออกแบบ ทดสอบ และพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์อีกด้วย
นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ (Computer Engineering and Artificial Intelligence) จะได้ฝึกปฏิบัติงานกับองค์กรพันธมิตรของพีไอเอ็ม เพื่อพัฒนาตนเองให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยจะได้ฝึกทักษะดังนี้
1. ทักษะการพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์
ฝึกฝนการจัดการโครงสร้างข้อมูลและอัลกอริทึม เพื่อใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ และนำความรู้พื้นฐานทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีมาใช้กับการพัฒนาฮาร์ดแวร์ โดยสามารถวิเคราะห์ปัญหา พร้อมเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากสถานประกอบการธุรกิจ
2. ทักษะการออกแบบระบบ AI
สามารถออกแบบและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการใช้การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) เพื่อสร้างเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับองค์กรธุรกิจที่กำลังเติบโต และสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ
3. ทักษะการทำ Computer Simulation
ฝึกฝนการจำลองแบบและจำลองระบบด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer Simulation) โดยใช้โมเดลทางสถิติ ภาษา และเทคนิคต่างๆ สามารถออกแบบ วิเคราะห์ ทำการทดลอง และตรวจสอบความถูกต้องของการจำลองแบบ และแสดงผลออกมาในรูปของตาราง กราฟ และการสร้างภาพหลายมิติได้
4. ทักษะการเขียนโปรแกรม
ฝึกฝนทักษะการเขียนโปรแกรมเพื่อรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ และนำมาใช้วิเคราะห์ปัญหาทั้งในและนอกองค์กร โดยสร้างกรอบความคิดและออกแบบการทดลองในเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาวิธีการทำงานใหม่ๆ รวมถึงแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยข้อมูลที่มี
นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการและการผลิตอัจฉริยะ (Industrial Engineering and Intelligent Manufacturing) จะฝึกปฏิบัติงานกับองค์กรธุรกิจและโรงงานอุตสาหกรรม โดยสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้หลายแขนง ทั้งไฟฟ้า ยานยนต์ หุ่นยนต์ AI ไอที โดยจะได้ฝึกทักษะดังนี้
1. ทักษะการบริหารระบบงานอุตสาหกรรม
ฝึกฝนทักษะด้านการการวางแผนและการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ โดยนำศาสตร์ด้านวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์ มาประยุกต์ใช้ในการควบคุมภาพรวมของงานอุตสาหกรรม โดยมีความรู้ในเรื่องของวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเรื่องกล วัสดุในงานวิศวกรรม การเขียนแบบวิศวกรรม กฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน และมาตรฐานความปลอดภัยทางอุตสาหกรรม ฯลฯ
2. ทักษะการออกแบบโรงงานอุตสาหกรรม
สามารถวางแผนและออกแบบโรงงาน โดยมีความเข้าใจในการเลือกทำเลที่ตั้งโรงงาน การจัดวางผังสิ่งอำนวยความสะดวก การขนถ่ายวัสดุ และลักษณะของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งศึกษาข้อกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบโรงงานอุตสาหกรรม
3. ทักษะการจัดการกระบวนการผลิต
ฝึกทักษะการวางแผนการผลิต การจัดการงบประมาณ การวิเคราะห์ต้นทุนและผลกำไร เรียนรู้การควบคุมการผลิตเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพ มีอัตราค่าใช้จ่ายและเวลาสูญเปล่าต่ำ
4. ทักษะการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ
เรียนรู้องค์ประกอบหลักของระบบผลิตอัจฉริยะ ได้แก่ อินเทอร์เน็ตของทุกสรรพสิ่ง (IoT – Internet of Things) สำหรับงานอุตสาหกรรม, หุ่นยนต์อุตสาหกรรม, ระบบผลิตเสมือนจริง (Virtual Manufacturing), ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data), การประมวลผลและเก็บข้อมูลด้วยคลาวด์ (Cloud Computing) และสามารถบูรณาการระบบการผลิตอัจฉริยะต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่องานอุตสาหกรรมได้
เมื่อเรียนจบแล้ว นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการและการผลิตอัจฉริยะสามารถสอบใบประกอบวิชาชีพวิศวกร หรือ ใบ กว. ได้
นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมการผลิตยานยนต์ (Automotive Manufacturing Engineering) จะฝึกปฏิบัติงานกับองค์กรธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์แบบครบวงจร ตั้งแต่โรงงานอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ โรงงานผลิตชิ้นส่วน และส่วนประกอบยานยนต์ และธุรกิจซ่อมบำรุงยานยนต์ โดยจะได้ฝึกทักษะดังนี้
1. ทักษะการบริหารการผลิตยานยนต์
เรียนรู้วิธีการออกแบบและวางแผนกระบวนการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ฝึกฝนการควบคุมการผลิต การใช้โปรแกรมสำหรับวิศวกรรมการผลิตและการวางผังโรงงานแบบเสมือนจริง รวมถึงการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลก
2. ทักษะการใช้เครื่องจักรในงานวิศวกรรม
ฝึกฝนการใช้เครื่องจักรในการผลิตแบบต่างๆ เช่น การหล่อ การขึ้นรูป การใช้เทคโนโลยีซีเอ็นซี เทคโนโลยีแม่พิมพ์ โดยรู้จักหลักการทำงานที่ปลอดภัยและการบำรุงรักษาอุปกรณ์ สามารถใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ในงานวิศวกรรมยานยนต์ได้
3. ทักษะการจัดการธุรกิจซ่อมบำรุงยานยนต์
ศึกษาการบริหารจัดการในธุรกิจซ่อมบำรุงยานยนต์จากการฝึกงานในศูนย์บริการยานยนต์ของรถยนต์แบรนด์ดัง เช่น Mercedes-Benz, BMW, Mitsubishi, MG และศูนย์บริการครบวงจรโดยช่างผู้ชำนาญงานที่ผ่านการอบรมเฉพาะด้านอย่าง B-Quik เรียนรู้ความเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ และเทคนิคการให้บริการอย่างมีคุณภาพ เพื่อสร้างความพึงพอใจและความมั่นใจในการขับขี่อย่างปลอดภัยให้แก่ลูกค้า
นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics and Automation Engineering) จะได้ฝึกปฏิบัติงานในองค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยจะได้ฝึกทักษะดังนี้
1. ทักษะการพัฒนาซอฟต์แวร์
เรียนรู้วิธีการพัฒนาระบบโปรแกรมซอฟต์แวร์สำหรับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการใช้งานได้จริง ฝึกฝนการวางแผนและบริหารงานโครงการซอฟท์แวร์ โดยรู้จักข้อกำหนดความต้องการของซอฟต์แวร์ และการศึกษาความเป็นไปได้ในทางเทคนิค
2. ทักษะการออกแบบหุ่นยนต์
ฝึกฝนทักษะการออกแบบชิ้นส่วนของหุ่นยนต์และเครื่องจักรกล โดยรู้จักคุณสมบัติและการเลือกใช้วัสดุ สามารถใช้โปรแกรมระบบควบคุมอุปกรณ์ด้วยคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ เครื่องตัดชิ้นส่วนด้วยเลเซอร์ และเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อการสร้างชิ้นงานต้นแบบ 3 มิติที่มีประสิทธิภาพสูง
3. ทักษะการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม
เรียนรู้การทำงานของระบบควบคุมอัตโนมัติและหุ่นยนต์สำหรับงานอุตสาหกรรม สามารถใช้อุปกรณ์สื่อสารในระบบอัตโนมัติเพื่อเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ และใช้โปรแกรมควบคุมระบบการผลิตและหุ่นยนต์ในงานอุตสาหกรรมได้