เดินทางมาถึงรอบนำเสนอผลงานของ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) สำหรับโครงการ True 5G World of Smart Education with Temi Robot Boot Camps ภายใต้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หลังจากที่ได้มอบหุ่นยนต์ “True5G Temi Connect & Carebot” แก่นักศึกษาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชัน 3 ด้านได้แก่ Smart Learning, Smart Campus และ Innovation and R&D ผ่าน “VLEARN” แพลตฟอร์มความรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยีครบวงจร เป็นเวลากว่า 4 เดือนที่นักศึกษาได้คิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรม จนมาถึงวันที่พร้อม Pitching ผลงานแก่คณะกรรมการ ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำโดย คุณสหรัฐส์ คนองศิลป์ ผู้อำนวยการบริหาร ด้านการบริหารจัดการระดับภูมิภาค (ฝั่งกรุงเทพตอนเหนือและนนทบุรี), คุณเจริญศักดิ์ รัตนวราห หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนา True Robotics, คุณวีรดา ชัยกิตติรัตนา หัวหน้าฝ่ายการพาณิชย์กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และคณะกรรมการ5Gทางการศึกษา, คุณชูศักดิ์ ทวีกิติกุล Chief Information Technology Officer บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน), ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เลิศชัย สุธรรมานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา สำนักอธิการบดีและบริหารความยั่งยืน พีไอเอ็ม, รองศาสตราจารย์ ดร. พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม และคุณเศรษฐศักดิ์ ลาทอง ผู้จัดการแผนกอาคาร ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด ร่วมตัดสินให้ทีม “Aileen” ผู้คิดค้นแอปพลิเคชันให้หุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยสำหรับผู้สูงอายุในการชอปปิง รับรางวัลชนะเลิศ พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท เป็นตัวแทนพีไอเอ็มเข้าสู่รอบสุดท้าย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (iCRAS) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ถนนแจ้งวัฒนะ
นับเป็นโอกาสดีที่ทรูเปิดโอกาสให้นักศึกษาพีไอเอ็มได้แสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมร่วมกับความอัจฉริยะของทรู 5G เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้วงการการศึกษาไทย โดยใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะ True5G Temi Connect & Carebot ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน สร้างโปรแกรม เสริมไอเดียให้เป็นรูปธรรมให้ใช้งานหุ่นยนต์ได้จริงในศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ในขณะเดียวกันนักศึกษาในโครงการได้เรียนรู้ 3 ด้านหลัก ได้แก่ Smart Learning, Smart Campus และ Innovation and R&D ผ่าน “VLEARN” แพลตฟอร์มความรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยีครบวงจร ที่มีโซลูชั่นและเทคโนโลยีอัจฉริยะ ทั้ง AI, Robotics, Deep Data Analytics และ Smart IoT เสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ให้มีความรู้เบื้องต้นด้านเทคโนโลยี 5G และหุ่นยนต์ สามารถสอนออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา
คุณสหรัฐส์ คนองศิลป์ ผู้อำนวยการบริหาร ด้านการบริหารจัดการระดับภูมิภาค (ฝั่งกรุงเทพตอนเหนือและนนทบุรี) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทรูในฐานะผู้นำดิจิทัล ไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร เป็นผู้ให้บริการสัญญาณ 5G เป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ได้ใช้ 5G เข้ามาผลักดัน กระตุ้นเรื่องเศรษฐกิจ และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาภาคการศึกษาของประเทศ เพื่อยกระดับสู่ Smart Education และส่งเสริมให้นักศึกษาได้คิดจริง ทำจริง สนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เลิศชัย สุธรรมานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา สำนักอธิการบดีและบริหารความยั่งยืน พีไอเอ็ม เปิดเผยว่า “โครงการนี้ช่วยเพิ่มพูนทักษะด้านไอที นวัตกรรม และเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ แก่นักศึกษาให้ทันเทรนด์ กระตุ้นเยาวชนให้มีความคิดสร้างสรรค์ การฝึกอบรมเต็มไปด้วยองค์ความรู้ที่นำมาประยุกต์ใช้ในกับผลงาน และช่วยปูทางสู่เส้นทางอาชีพในอนาคต เป็นการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน”
กว่า 4 เดือนที่ผ่านมา นักศึกษาวิศวกรรมวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ พีไอเอ็ม มุ่งมั่นคิดค้นแอปพลิเคชันสำหรับหุ่นยนต์ True5G Temi Connect & Carebot ที่ใช้งานได้จริง ตอบโจทย์เกณฑ์การตัดสินมากที่สุด เช่น ระบุกลุ่มเป้าหมายและปัญหาที่ชัดเจน ตอบโจทย์ปัญหาหรือความต้องการได้อย่างถูกต้อง ความตั้งใจในการนำเสนอ ความน่าสนใจ และความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ และทีมที่โดนใจคณะกรรมการมากที่สุดได้แก่ ทีม “Aileen” และแอปพลิเคชันที่จะทำให้หุ่นยนต์เทมิกลายเป็นผู้ช่วยสำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษในการชอปปิง กับคอนเซ็ปต์ “I may be far, but never gone” ทำให้การเลือกซื้อสินค้าความสะดวกสบายมากขึ้น ด้วย Feature สำคัญคือการสั่งของและส่งของภายในพื้นที่ห้าง อาทิ สามารถส่งข้อมูลแผนที่ห้างไปยังโทรศัพท์ของลูกค้า, ฟังก์ชันเปรียบเทียบสินค้า สามารถเช็คโปรโมชัน กิจกรรม และสินค้าภายในห้างผ่านหุ่นยนต์ได้ โดยเจ้าของไอเดียได้แก่ นายภาณุพงษ์ แสนคำแก้ว และ นายสนธยา เหล็กอินทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ซึ่งมี ดร. ศรัณย์ ฉัตรธัญญกิจ ดร.วรวุฒิ กังหัน และ ดร. ภาคภูมิ ปฐมภาคย์ อาจารย์ประจำสาขาเป็นที่ปรึกษา ทั้งนี้ยังไม่หยุดพัฒนา นำข้อเสนอแนะจากกรรมการมาปรับใช้กับแอปให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ร่วมแข่งขันรอบสุดท้ายกับอีก 20 มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564
เทคโนโลยี TRUE 5G เป็นหัวใจสำคัญที่รวมเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มาใช้ร่วมกัน สร้างประโยชน์ให้ประเทศในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะด้าน “การศึกษา” ที่สามารถส่งเสริมการบูรณาการระบบการเรียนการสอนในยุค 4.0 ให้นักศึกษาได้เรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น นำมาต่อยอดเชิงนวัตกรรมซึ่ง True5G Temi Connect & Carebot ทำให้การเรียนการสอนเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น จึงถือว่าเป็นโครงการที่ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้และสามารถเห็นการพัฒนาจากโจทย์จริง และมีผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานของนักศึกษาได้จริง ทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดใช้งานในรูปแบบอื่นได้ด้วย