พีไอเอ็ม ห่าง แต่ไม่ห่วง “เรียน” ออนไลน์ “รู้” ต่อเนื่อง ทันเรื่องวิชาการ
แม้ในขณะนี้ที่ทุกคนต้องอยู่ภายในที่พักของตัวเองในภาวะไม่ปกติเช่นนี้ เพื่อให้แน่ใจได้ว่านักศึกษาจะไม่พลาดการเรียนรู้ของพวกเขา และช่วยให้เส้นทางการเรียนสามารถเดินหน้าต่อไปได้ พีไอเอ็มและอาจารย์มีการวางแผนที่ชัดเจนว่าห้องเรียนออนไลน์ต้องมีความน่าสนใจ ง่ายและสนุก สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนักศึกษาและอาจารย์มากขึ้นแม้จะไม่ได้เจอหน้ากันในห้องเรียนเช่นที่เคย โดยปัจจุบันมีแอปพลิเคชัน Video Conference ต่างๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายและเอื้ออำนวยความสะดวกสบายให้กับการเรียน เช่น True Virtual World แพลตฟอร์มที่พร้อมให้ทุกคนทำงานที่บ้าน (VWORK) เรียนที่บ้าน (VLEARN) อย่างไร้ขีดจำกัด, Google Hangouts Meet, Zoom, Facebook, Cisco Webex, Microsoft Teams, Line ที่พีไอเอ็มยังพัฒนาระบบการบรอดแคสต์ควบคู่กับระบบ Internal Services “PIM E-Learning” มากว่า 5 ปีแล้ว เป็นระบบที่นักศึกษาสามารถใช้บัญชีอีเมลของแต่ละคนเข้าระบบการเรียนการสอนส่วนกลางนี้ รับ-ส่งชิ้นงานของนักศึกษา ด้านอาจารย์ใช้เผยแพร่เอกสารการสอน ซึ่งได้ประสิทธิภาพไม่แพ้รูปแบบ “Face to Face” อีกด้านของห้องสมุดสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ยังเสริมความรู้ด้วยฐานข้อมูลทรัพยากรห้องสมุดออนไลน์ (e-Library) อาทิ บริการ e-Collection ประกอบไปด้วย e-Book, e-Theses, e-Projects, e-Research หรือเเม้แต่วารสารออนไลน์ (Online Journals) ดาวน์โหลดได้แบบไม่อั้น แหล่งความรู้ที่ทุกคนเข้าถึง สืบค้นในยามที่สงสัยระหว่างการเรียนและยามว่างได้ตลอด 24 ชม. ครบฟังก์ชั่นการเรียนการสอน และการทำงานที่บ้าน (Learn and Work from Home) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านของผู้สอน การเตรียมตัวก่อนเปิดห้องเรียนออนไลน์นั้นสำคัญ อาจารย์จะต้องเตรียมสื่อการสอนที่เหมาะสม ต้องมั่นใจว่าจะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจง่าย ดร.สายพิณ ปั้นทอง รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ คณะบริหารธุรกิจ พีไอเอ็ม วางแผนเตรียมการสอนออนไลน์มานานกว่า 2 สัปดาห์ เพื่อสอนวิชาการจัดซื้อสำหรับธุรกิจการค้าสมัยใหม่ (Procurement Management for Modern Trade Business) ทุกวันพุธและศุกร์ สำหรับนักศึกษาหลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี ของคณะบริหารธุรกิจ โดยใช้เทคนิคการสอบถามและพูดคุยกับนักศึกษารวมถึงแจ้งคลาสเรียนผ่านเฟสบุ๊คกลุ่ม เมื่อถึงวันและเวลาเรียนจริง อาจารย์จะแบ่งคลาสออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ตรวจสอบชื่อและเช็คชื่อนักศึกษา ประมาณ 20 นาที ช่วงที่ 2 เริ่มบทเรียนโดยแจ้งหัวข้อในการเรียนและปล่อยคลิปบทเรียนนั้นจากช่องยูทูปของอาจารย์ ช่วงที่ 3 ในท้ายคลิปการสอนจะมีโจทย์ให้ทำ Workshop และสอบถามข้อสงสัย นักศึกษาจะส่งใบงาน ผ่านระบบ E-learning ของพีไอเอ็ม ควบคู่กับคลิปสั้นๆ เพื่อสรุปเนื้อหาที่เรียนไปว่าเข้าใจมากน้อยแค่ไหน และทุกวันศุกร์จะเป็นการสรุปข้อมูลเนื้อหาของบทเรียน หากใครมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมผ่านทางไลฟ์ออนไลน์กับอาจารย์ได้โดยตรง
อาจารย์ทิมทอง นาถจำนง หัวหน้าสาขาวิชาการสอนภาษาจีน คณะศึกษาศาสตร์ พีไอเอ็ม กล่าวว่า “ผมใช้ Microsoft Teams ในการสอนและใช้ Quizizz ในการทดสอบ เพราะใช้งานได้หลากหลาย มีทั้งเพลงและมีภาพประกอบน่ารักๆ ทำให้แบบทดสอบน่าสนใจและน่าสนุก เมื่อเข้าเรียนจะให้ทำ Pre-Test ก่อน เมื่อเรียนจบในแต่ละเรื่อง ก็ให้ทำ Post-Test เพื่อเช็กการเรียนรู้ของนักศึกษาไปในตัว และยังวิเคราะห์ให้เห็นว่าคำถามแต่ละข้อมีนักศึกษาตอบถูกและผิดกี่คน ใช้เวลาเท่าไร ถ้าข้อไหนตอบผิดเยอะ เราก็รู้ได้ว่าข้อนี้มีปัญหา อาจจะสอนไม่เข้าใจหรือมีอะไรคลาดเคลื่อน”
ทางด้านนักศึกษาต่างให้ความเห็นว่าการเรียนออนไลน์นั้นต้องบริหารจัดการเวลาให้ดี ถึงแม้จะมีเวลาว่างกว่าเดิม แต่ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น บางคนบอกว่าการเรียนแบบนี้เป็นครั้งแรก รู้สึกตื่นเต้น แปลกใหม่ แรกๆ ยังไม่เข้าใจหลังจากได้เรียนไปหลายวิชาก็ปรับตัวได้ สนุก สะดวก เรียนโดยไม่จำกัดเวลา/สถานที่ เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ตลอด แถมกลับไปเรียกดูไฟล์ ทบทวนบทเรียนได้ง่าย อาจารย์ใช้สื่อหลายอย่างมาสอนช่วยกระตุ้นความสนใจ ทำให้เห็นภาพของเนื้อหาง่ายมากขึ้น และได้รับการสนับสนุนคำแนะนำหรือการตอบกลับเป็นรายบุคคลจากอาจารย์ เพื่อให้โฟกัสกับการเรียนอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังลดเวลาการเดินทางไปสถาบันฯ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
สำหรับนางสาวสิรินภา จากิจ นักศึกษาชั้นปี 2 คณะการจัดการโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง กล่าวว่า “จากสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สถาบันฯ ต้องหยุดการเรียนการสอนและหันมาสอนแบบออนไลน์เต็มรูปแบบ ตอนแรกรู้สึกกังวลว่าจะเรียนไม่รู้เรื่อง แต่จริงๆ แล้วสนุกมาก ทำให้ขยัน ตั้งใจ เเละมีวินัยในตัวเองมากขึ้น ตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ตื่นแต่เช้ามาเพื่อ Video Call เจอกับอาจารย์และเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ในคลาสออนไลน์เพื่อนๆ ตั้งใจเรียนและปรับตัวกันได้ไวพอสมควร ท่านอาจารย์เองก็มีส่วนช่วยพวกเราอย่างดี เตรียมการสอนมาหลายรูปแบบเลยค่ะ”
นางสาวรวิสรา ขุนชุ่ม นักศึกษาชั้นปี 3 คณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาจีนธุรกิจ กล่าวว่า “ช่วงนี้ต้องเปลี่ยนการเรียนมาเป็นรูปแบบออนไลน์ซึ่งก็ถือว่าสะดวกดี ลดเวลาการทำกิจวัตรประจำวันลงไป แต่ได้เพิ่มเวลาในดูแลตัวเอง ดูแลคนในครอบครัวมากขึ้น”
ด้านนายกฤตวัฒน์ ปัญญากิตติวัฒน์ นักศึกษาชั้นปี 4 คณะนิเทศศาสตร์ สาขาการสื่อสารองค์กรและแบรนด์ กล่าวว่า “ตอนนี้กำลังทำโปรเจกต์จบ ก็ต้องมาทำออนไลน์มากขึ้น ปรึกษาอาจารย์ออนไลน์แบบ Work From Home ก็สนุกดีครับ”
จากสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของวงการการศึกษาทุกระดับชั้น การนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้กับการเรียนการสอนรวมไปถึงการสอบ ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด ยิ่งจะทำให้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนมีความคุ้นเคยการใช้เทคโนโลยีกับการศึกษามากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่พีไอเอ็มทำมาตลอด โดยทางสถาบันมีการเรียนการสอนหน่วยการเรียนทางไกลผ่าน Video Conference รับส่งสัญญาณแบบเรียลไทม์ สามารถถามตอบกันได้เสมือนการเรียนในห้องเรียนปกติ ยิ่งไปกว่านั้น พีไอเอ็มดำเนินการต่อเนื่องให้ความสำคัญเรื่องคอร์สเรียนออนไลน์ นำร่องด้วย 16 บทเรียนเพื่อประชาชนและผู้สนใจทั่วไป โดยผสานร่วมมือกับ โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยเพื่อการจัดการเรียนการสอนในระบบเปิด (Thai-MOOC) พีไอเอ็มได้นำวิชาการ องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ รวบรวมจากอาจารย์และวิทยากรมืออาชีพของสถาบันฯ พัฒนาบทเรียนอย่างสร้างสรรค์ ผลิตและเผยแพร่ในรูปแบบสื่อการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ ตามมาตรฐานคุณภาพและกระบวนการเรียนการสอนออนไลน์ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย มีเกียรติบัตรรับรองให้หลังเรียนจบผ่านบททดสอบ ภายใต้ชื่อ “PIM-MOOC” นับเป็นแกนบริการวิชาการสำคัญที่พีไอเอ็มมุ่งส่งเสริมการศึกษาระบบเปิดเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Lifelong Learning Space) สำหรับพลเมืองยุคดิจิทัล ไม่ว่าอยู่ที่ใดก็เข้าเรียนได้อย่างไร้พรมแดน ทั้งนี้การใช้นวัตกรรมมาช่วยเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ทั่วถึงในยามวิกฤติ ให้ได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง นั่งเรียนที่บ้าน ปลอดภัย ได้ความรู้ ช่วยให้นักศึกษาและสถาบันฯ ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ และมีช่องทางการเรียนออนไลน์ที่น่าสนใจเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป