สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้สนับสนุนการจัดงาน PIM Robotics Playground 2019 “มหกรรมสนามเด็กเล่นหุ่นยนต์และการแข่งขันหุ่นยนต์ยุวชนชิงชนะเลิศประเทศไทย ประจำปี 2562″ เปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีใจรักหุ่นยนต์และสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมงานแข่งขันเปิดสนามประลองฝีมือทดสอบพัฒนาทักษะความสามารถด้านหุ่นยนต์และการสร้างสิ่งประดิษฐ์ เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ที่คงทนสร้างเสริมประสบการณ์ผ่านการทำกิจกรรมที่เน้นความสนุกสนาน เกิดประสบการณ์และทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ อันเป็นการจุดประกายให้เยาวชนสร้างความตระหนักรู้ในนวัตกรรมหุ่นยนต์ พร้อมเสริมให้เยาวชนได้ศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ นำไปสู่การศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพในอนาคต ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และได้รับความสนใจจากนักเรียนระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษา จากหลากหลายโรงเรียนทั่วประเทศ เข้าร่วมกว่า 2,000 คน โดยเยาวชนสุดเจ๋งจากการแข่งขันแต่ละรายการ อาทิ การแข่งขันหุ่นยนต์ทำภารกิจ การแข่งขัน Beam Thailand Open การแข่งโครงงานหุ่นยนต์และสิ่งประดิษฐ์ หรือโครงงานประเภทซอฟแวร์ จำนวน 14 ทีม ได้ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม มูลค่ากว่า 13,000,000 บาท และผู้ชนะ Champ of the Champ ในปีนี้ ได้แก่ โรงเรียนแปลงยาวพิทยาคม จังหวัดฉะเชิงเทรา และ โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้รับทุนสนับสนุนการเดินทางไปศึกษาดูงานเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มูลค่า 400,000 บาท
อาจารย์พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ พีไอเอ็ม กล่าวว่า “พีไอเอ็มเป็นสถานศึกษามีเจตจำนงแน่วแน่ว่า อยากให้สังคมไทย นักเรียน นักศึกษาทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น เรียนรู้เพื่อจะนำมาช่วยพัฒนาขีดความสามารถด้านการทำงานหรือธุรกิจของตัวเองได้ เราส่งเสริมให้มีการสัมมนาต่างๆ รวมถึงแทรกเนื้อหาไปในบทเรียน และทำงานควบคู่กับหน่วยงานอุตสาหกรรมต่างๆ ศึกษาว่าผู้ที่ใช้เทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์ในอนาคตเขามีความต้องการอย่างไร แล้วพัฒนาคนล่วงหน้าเพื่อตอบโจทย์ความต้องการแรงงานคน และสำหรับงาน PIM Robotics Playground 2019 เราให้การสนับสนุน สถานที่จัดงาน เงินรางวัล ของรางวัล ทุนการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี อาหารกลางวัน และทุนไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นจาก บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) งานนี้ไม่ใช่แค่สร้างหุ่นยนต์มาแข่งเพียงอย่างเดียว แต่น้องๆ จะเห็นเส้นทางวิชาการและแนวทางอาชีพด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอนาคต เด็กๆ อายุยังน้อยก็จะมีความคิดใหม่ๆ เขาอาจจะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษยชาติ ที่ไม่เคยมีมาก่อนก็เป็นได้”
นายบัญชา พวงพิกุล และนายถาวร ไกยบุตร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนแปลงยาวพิทยาคม จังหวัดฉะเชิงเทรา แชมป์รายการหุ่นยนต์ทำภารกิจ เล่าว่า “รู้สึกตื่นเต้น และดีใจมาก เราเตรียมตัว ฝึกซ้อม และศึกษากติกาอย่างหนัก เพื่อให้หุ่นยนต์ของเรามีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด เราไม่ใช่เด็กเก่ง เราต้องอาศัยการฝึกซ้อมมากๆ และในอนาคตจะนำผลงานนี้ไปพัฒนาในด้านการเขียนโปรแกรมส่วนต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน พวกเราต้องขอขอบคุณ PIM Robotics Playground 2019 ที่ทำให้เด็กๆ ได้มีเวทีเข้าร่วมแข่งขัน ฝึกฝน พัฒนาฝีมือ ได้เจออุปสรรคและแก้ปัญหาที่ไม่เคยเจอในห้องเรียน”
ด.ญ.ภิญฐ์สิตา เนียมอินทร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ ด.ช.เอกนฤน หาญทวีพันธ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ แชมป์หุ่นยนต์บีมทางเรียบ ไม่จำกัดวงจร รุ่นมัธยมศึกษาตอนต้นเล่าว่า “ใช้เวลาหลังเลิกเรียนทุกเย็นในการออกแบบ ประกอบ รวมถึงได้ทดสอบทำเวลาให้ได้ตามต้องการ โดยจะนำผลงานชิ้นนี้ที่สร้างขึ้นเกี่ยวกับวงจรไฟฟ้าไปปรับใช้กับโครงงาน เพื่อเพิ่มทักษะการใช้วงจรไฟฟ้าและกลไกมากยิ่งขึ้น สร้างทักษะและประสบการณ์ในการเรียนรู้
ตลอดระยะเวลาของการจัดงาน PIM Robotics Playground 2019 นั้น เต็มไปด้วยการประลองความคิดฝีมือ ที่เกิดจากความมุ่งมั่นและตั้งใจของเยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขัน ความรู้บวกทักษะด้านกลศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ถูกกลั่นออกมาเพื่อสรรค์สร้างหุ่นยนต์หรือผลงานของทีมให้สู่เป้าหมาย ได้เรียนรู้ฝึกฝนแลกเปลี่ยนมุมมองของเหล่าผู้ที่ชื่นชอบหุ่นยนต์ เปี่ยมด้วยแววตาของการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้านนวัตกรรม ซึ่งนับเป็นเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์ที่สามารถผลักดันเยาวชนไปสู่ระดับนานาชาติในก้าวต่อไปอย่างแท้จริง