ชีวาสุขวิทยาลัย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ร่วมกับ สมาคมสปาและเวลเนสภาคตะวันออก จัดงานสัมมนาThailand Health & Wellness Trends 2025 เพื่ออัพเดทเทรนด์แนวโน้มทางด้านสุขภาพ โอกาสทางธุรกิจและการปรับตัวในยุค Wellness Economy สำหรับปี 2025รับฟังการบรรยายจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญนำทีมโดย ดร.กันยารัตน์ กุยสุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข คุณกรด โรจนเสถียร ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ต และ อดีตนายกสมาคมสปาไทย นายแพทย์ธรณัส กระต่ายทอง Chief Medical Officer & Founder V Precision Clinic คุณชัยรัตน์ รัตโนภาส นายกสมาคมสปาและเวลเนสภาคตะวันออก ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล รองอธิการบดีส่วนวิทยาศาสตร์สุขภาพ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ อาจารย์สรรเพชญ์ มีกุศล หัวหน้าสาขาวิชาอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เป็นผู้ดำเนินรายการช่วงเสวนา ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังทางช่องทางออนไลน์กว่า 400 คน จากแวดวงสุขภาพทั้งรัฐและเอกชน สถานพยาบาล ธุรกิจท่องเที่ยว และเครือข่ายภาคการศึกษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2567
ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล กล่าวต้อนรับและเปิดการสัมมนา “มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับทุกท่านสู่งานสัมมนา ทุกท่านจะได้เห็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงว่ามีอะไรบ้าง โอกาสที่จะดำเนินการมีอะไรบ้าง เพราะปัจจุบันคนแสวงหาความรู้ด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น ครั้งนี้ชีวาสุขวิทยาลัย ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ ภายใต้สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยเราจัดการศึกษาทั้งการเรียนการสอน การวิจัย การจัดอบรมด้าน Health & Wellness ด้านการพยาบาล ให้กับหลายองค์กร และวันนี้ถือเป็นการบริการวิชาการได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในวงการสุขภาพมาให้ข้อมูลต่างๆ ขอขอบพระคุณผู้เข้าฟังเกือบ 400 ท่าน และหวังว่าโอกาสต่อไปทุกท่านจะให้ความสนใจเข้าร่วมงานกับเราต่อเนื่อง”
ช่วง Executive Talk ดร.กันยารัตน์ กุยสุวรรณ ได้แบ่งปันข้อมูลทิศทางและโอกาสของเศรษฐกิจสุขภาพไทย 2025 เผยข้อมูลแผนยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การขับเคลื่อนนโยบาย Medical Hub เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ มีหมุดหมายพัฒนา 4 หมุดได้แก่ ศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์กลางผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพรนวัตกรรม
พร้อมกล่าวถึงโอกาสของเวลเนสไทยที่น่าจับตามองคือ 1.ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย 2.ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ 3.กิจกรรมทางกาย 4.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 5.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 6.การสาธารณสุข เวชศาสตร์ป้องกัน และการแพทย์เฉพาะบุคคล 7.อสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ 8.กลุ่มธุรกิจส่งเสริมสุขภาพจิต 9.ธุรกิจสปา 10.ธุรกิจส่งเสริมสุขภาพในที่ทำงาน และ 11.สปาบ่อน้ำแร่ น้ำพุร้อน
นอกจากนี้ยังมองเห็นถึงการเชื่อมโยงต่อธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การรักษาพยาบาลสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจประกันสุขภาพระหว่างประเทศ หรือธุรกิจตัวแทนท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอาหาร ธุรกิจคมนาคมสำหรับการดูแลติดตามผู้ป่วย และโอกาสที่เราจะเป็น Medical& Wellness Hub ของภูมิภาคนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ข้อมูลดังกล่าวจะเอื้อให้ธุรกิจทุกระดับของประเทศ ตลอดจนภาคประชาชนที่จะเกิดการจ้างงาน เกิดองค์ความรู้ เกิดวัฒนธรรมสุขภาพสู่ชุมชน สร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ
ทางด้านการเสวนา “การพลิกโฉมเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจเวลเนสสู่ความยั่งยืน” นายแพทย์ธรณัส กระต่ายทอง กล่าวถึง โอกาสทองของประเทศไทยในยุค Wellness Economy ว่า “ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในระดับแนวหน้าของโลกด้าน Medical Hub มีจุดแข็งด้านสาธารณสุข คุณภาพของบุคลากรทางการแพทย์ และมีสถานพยาบาลได้มาตรฐานอันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงมีความพร้อมของระบบสาธารณสุข ในมุมมองของแพทย์คิดว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะอยู่ใน Blue Zone หรือพื้นที่ที่มีประชากรอายุยืนยาวเพราะมีอาหารดี การเป็นอยู่ดี อีกทั้งต้องสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น Longevity Destination จุดหมายปลายทางของผู้ที่ต้องการมีอายุยืน ปัจจุบันไม่ใช่แค่การท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวแต่ยังหมายถึงการย้ายมาอยู่เพื่อใช้ชีวิตและการรักษาพยาบาล สำหรับ Wellness Tourism เรามีความโดดเด่นเรื่องการแพทย์ที่มีผู้เชี่ยวชาญไม่ด้อยกว่าต่างประเทศและราคาไม่สูง และธุรกิจด้านการฟื้นฟูสุขภาพก็กำลังมาแรงนำเม็ดเงินเข้าประเทศจำนวนมาก”
ขณะที่ คุณชัยรัตน์ รัตโนภาส ยกตัวอย่างความโดดเด่นของประเทศไทยใน Wellness Industry ว่า “พัทยา ชลบุรี และพื้นที่ในอีอีซีมีอุตสาหกรรมสร้างเงินให้ประเทศมากมาย เช่น การเกษตร อุตสาหกรรมหนัก โลจิสติกส์ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้มหาศาล เราต้องเป็น Experience Exporter ผู้ส่งออกประสบการณ์แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งเรามี 7 อย่างคือ Sea Sand Sun Seafood Sport Spa และ Sook ที่หมายถึงความสุข พัทยามีเฟสติวัลต่างๆ ที่มีกิจกรรมเสริมสร้างด้านสุขภาพ อาทิ การออกกำลัง การกิน สถานที่รองรับการพักผ่อนครบวงจรทั้งสุขภาพกายและใจ นอกจากนี้เรายังหมั่นพัฒนาบุคลากรให้ความรู้ความสามารถในการให้บริการเพื่อส่งเสริมธุรกิจอีกด้วย”
สำหรับ คุณกรด โรจนเสถียร ให้มุมมองการดำเนินธุรกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจเวลเนสไทยว่า “ขณะนี้นักท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงไป 3 ประการ คือ เรื่องสุขภาพส่วนบุคคล ความสมบูรณ์ทางสังคมและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สุขภาพของชุมชนหรือการตอบแทนชุมชนท้องถิ่น อย่างเช่น ชีวาศรมให้ความสำคัญกับคนให้บริการต้องมีสุขภาวะกาย-ใจดี ถึงจะส่งต่อไปยังลูกค้าได้ ต้องมีมาตรฐานการให้บริการ พร้อมทั้งเข้าใจสภาพแวดล้อมโลกที่กระทบกับสุขภาพ นอกเหนือจากภายในองค์กรแล้วยังต้องใส่ใจชุมชนรอบข้าง ทำงานร่วมกันกับชุมชนภายใต้ที่ตั้งนั้นๆ ดังนั้นผู้ให้บริการจะสร้างแรงบันดาลใจสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตของอีกคน สิ่งเหล่านี้คือหนึ่งในความเข้มแข็งขององค์กร รวมไปถึงชีวาศรมดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เช่น การปลูกต้นไม้ ‘โครงการอนุรักษ์ป่าชายเลนไกรลาศนิเวศ’ การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการน้ำที่ไม่เคยมีน้ำเสียถูกปล่อยออกจากรีสอร์ต การจัดการขยะ เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
ปิดท้ายด้วย ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล แชร์วิสัยทัศน์การทำธุรกิจผสานความยั่งยืน “เราเน้นการท่องเที่ยวแบบใหม่คือการท่องเที่ยวคาร์บอนเป็นศูนย์ เน้นการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม รักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เป็นทั้งการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าของการท่องเที่ยวไทย ยกตัวอย่างโครงการที่ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และหน่วยงานอื่นๆ เช่น ปี 2566 ด้านธุรกิจสปาและกีฬามุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลของสถานประกอบการ จัดทำมาตรฐาน ประเมิน และให้ตราสัญลักษณ์แก่สถานประกอบการที่ปล่อยคาร์บอนตามเกณฑ์ การให้ความรู้การจัดทริปท่องเที่ยวอย่างไรที่ปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด การจัดกิจกรรมกีฬา และการจัดทำโปรแกรมท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นของประเทศ เพื่อส่งเสริมเมืองน่าอยู่ โดยมีกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นักท่องเที่ยวระยะยาว ที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด”
ติดตาม รับชมงานสัมมนาเทรนด์ประจำปี 2025 “Thailand Health & Wellness Trends 2025”
Thailand Health & Wellness Trends 2025 : Trends & Opportunities of Wellness Economy in Thailand ได้ที่
https://www.facebook.com/Nurse.pim.eec/videos/524485276996064