สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) โดย ศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (Innovation and Invention Excellence Center) และ ศูนย์เครือข่ายเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักบริการวิชาการ (PIM : Technology and Innovation Network Center) พร้อมด้วย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) จัดเสวนาเรื่อง “ChatGPT ปัญญาประดิษฐ์เปลี่ยนโลก” เพื่อสร้างความรับรู้และทราบถึงประโยชน์ของ ChatGPT ระบบปัญญาประดิษฐ์สุดล้ำในรูปแบบแชทตอบโต้ที่ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี จากทั้งองค์กรภายในและภายนอก ตลอดจนผู้ที่สนใจและนักศึกษา ซึ่งได้รับเกียรติจาก อาจารย์พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีอาวุโส สายวิชาการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เป็นประธานเปิดงาน ด้านการเสวนาซึ่งมีวิทยากรเชี่ยวชาญเฉพาะทางร่วมแบ่งปันความรู้จากหลายภาคส่วน ได้แก่ ดร. ปรัชญา บุญขวัญ นักวิจัย กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC), คุณธนวัฒน์ พฤกษานานนท์ Vice President, Strategic Outlook and Transformation Management, ฝ่ายผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ดร.จิรภัทร์ หยกรัตนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดำเนินการเสวนาโดย ผศ.ดร.เกรียงไกร ทัศนวิภาส ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ ผศ. ดร. พุทธา สักกะพลางกูร อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมกันนี้ ศูนย์เครือข่ายเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักบริการวิชาการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ดร. ธัญลักษณ์ ธนปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์, คุณทิพวรรณ เงินแย้ม ผู้บริหารกลุ่มงาน พร้อมด้วยทีมศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และบุคลากร นักศึกษา เข้าร่วมงานดังกล่าว เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม 2566 ใน ทั้งรูปแบบออนไลน์ (ZOOM) และ ห้องประชุม B104 อาคาร The Tara ชั้น B1 สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ แจ้งวัฒนะ
อาจารย์พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีอาวุโส สายวิชาการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า “ในโลกที่เทคโนโลยีหมุนเร็ว พีไอเอ็มและวิทยากรในวันนี้มีภารกิจที่จะกระตุ้นให้ผู้ฟังหรือผู้เรียนได้ตระหนักถึงสิ่งใหม่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน หรือการเรียน ChatGPT ถือเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่มาเร็วมาแรง เราจะทำอย่างไรที่จะสามารถทำให้คนทั่วไปตื่นตัวและเรียนรู้ด้วยตัวเอง หวังว่าการเสวนานี้จะเป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งนอกจากจะให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีแล้ว ยังส่งเสริมเรื่องทั่วไปให้ทุกคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีความเข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ ขอขอบคุณผู้จัดงาน วิทยากร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ร่วมจัดงานในวันนี้และหวังว่าจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นอื่นๆ ได้ในอนาคต”
ทางด้านการเสวนา “ChatGPT ปัญญาประดิษฐ์เปลี่ยนโลก” โดยวิทยากรและ Moderator ทั้ง 5 ท่าน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ มุมมอง ตลอดจนประสบการณ์ต่อการใช้งานในประโยชน์ของ ChatGPT จากปัจจุบันสู่ทิศทางในอนาคต ที่ส่งผลรอบด้านในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ณ ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นวงการการศึกษาพัฒนาและวิจัยที่ถือได้ว่า ChatGPT เป็นโจทย์ที่ท้าทาย และถูกจับตามองในแง่ของการนำมาใช้งานอย่างไรให้เกิดบรรทัดฐานที่ถูกต้องและเหมาะสม ด้วยในเรื่องของเนื้อหาบางส่วนที่อาจจะมีข้อพึงระวังในด้านกฏหมาย โดยเฉพาะเรื่องลิขสิทธ์ที่อาจจะขาดการกำกับคัดกรอง ในส่วนของ ทรัพยากรหรือข้อมูล ที่ทาง ChatGPT นำเสนอมาว่าสามารถนำมาพิจารณาต่อยอดใช้งานได้ 100 % หรือไม่ อีกทั้งเนื้อหาที่นำเสนออาจจะไม่ได้อัพเดตถึงปัจจุบัน โดยการอัพเดตข้อมูลของ ChatGPT นั้นหยุดอยู่ที่ปี 2021 ตลอดจนในด้านที่ ChatGPT ถือเป็นเครื่องมือยกระดับการทำงานในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการเพิ่มของตำแหน่งงานด้านต่างๆ อาทิ ในตำแหน่งงานPrompt Engineer ที่กำลังจะเป็นเทรนด์ในอนาคต