สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) และ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MoU) เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรณีศึกษาด้านการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฐานทรัพยากรชีวภาพให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. สมโรตม์ โกมลวนิช รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการและวิจัย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ คุณสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เป็นประธานลงนาม พร้อมด้วยสักขีพยานของทั้งสองฝ่าย เมื่อวันอังคารที่13 มิถุนายน 2566 ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ถนนแจ้งวัฒนะ
นับเป็นโอกาสดีที่พีไอเอ็มได้ร่วมมือกับ BEDO องค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ และสามารถจัดการบริหารเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โดยผนึกกำลังดำเนินงานส่งเสริมธุรกิจและการตลาดจากผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น สนับสนุนเครื่องมือการจัดการความรู้ การแลกเปลี่ยนวิชาการ ประสบการณ์ดำเนินงานระหว่างกัน รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงยั่งยืนสู่สาธารณชนในวงกว้าง และเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทั้งแก่สถาบันการศึกษา ชุมชน สังคม และประเทศไทย
รองศาสตราจารย์ ดร. สมโรตม์ โกมลวนิช รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการและวิจัย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า “มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อประเทศ สำหรับพีไอเอ็มมีรูปแบบกาเรียนการสอนแบบ Work-based Education การเรียนควบคู่การฝึกงาน เป็นอีกหนึ่งแนวทางแก่นักศึกษาทั้งหลักสูตรไทยและหลักสูตรนานาชาติที่สนใจ ซึ่งได้รับความมือจากองค์กรทั้งรัฐ-เอกชนมาช่วยแลกเปลี่ยนความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้ในฐานะภาคการศึกษาพีไอเอ็มได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ โครงการนี้ทำให้นักศึกษาจะได้ลงพื้นที่จริง เห็นงานจริง เพื่อเพิ่มพูนความรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และมาปรับใช้กับการเรียนและการทำงานในอนาคต”
คุณสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO) กล่าวว่า “ได้เห็นเป้าหมายของพีไอเอ็มที่จะสร้างนักศึกษาดีมีคุณภาพ ทางด้านภารกิจของ BEDO นอกจากจะบริหารจัดการทรัพยากรทางชีวภาพควบคู่การอนุรักษ์แล้ว ยังต้องยกระดับผลิตภัณฑ์อาทิ อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ผ้าทอ ให้มีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ พัฒนาศักยภาพของชุมชน ในแง่ของแผนธุรกิจ การตลาด การประชาสัมพันธ์อีกด้วย การลงนามครั้งนี้จึงถือเป็นวาระดีที่นักศึกษาจะเข้ามาช่วยพัฒนาหรือเสริมแนวคิด ได้เข้าไปสู่ชุมชน ได้เจอกับเกษตรกร ได้เห็นถึงทุกกระบวนการตั้งแต่ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง และได้ส่งเสริมเศรษฐกิจพื้นฐานชีวภาพ ยกระดับสินค้าและบริการ รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมในอนาคต
ที่ผ่านมาพีไอเอ็มและ BEDO ร่วมลงพื้นที่ศึกษาดูงานได้แก่ บริษัท ทุ่งสุวรรณ ออร์แกนิคฟาร์ม จำกัด จังหวัดเชียงใหม่, ยาสีฟันสมุนไพรเอนไซม์เฮิร์บบุปผาวัน จังหวัดนครสวรรค์ และวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามบ้านอูนดง จังหวัดสกลนคร เพื่อเรียนรู้และร่วมพัฒนาแผนธุรกิจ การตลาด แก่เจ้าของธุรกิจดังกล่าว หรือใส่ความคิดสร้างสรรค์ให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนใน วิทยาลัยนานาชาติ หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่ (หลักสูตรนานาชาติ) B.B.A. in Modern Trade Business Management (International Program) iMTM นอกจากนี้ยังมีโครงการในอนาคตที่จะเดินหน้าทำร่วมกันด้านวิชาการ อาทิ การแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ ด้านความรู้ในเชิง Biodiversity Circular and Green Economy เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกและผู้นำการสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยเน้นความยั่งยืนในทุกมิติ และการคำแนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อให้มีโอกาสขยายตลาดและเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายลงในร้านสะดวกซื้อต่อไป