ชีวาสุขวิทยาลัย และ คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) จัดการประชุมวิชาการหัวข้อ “การพยาบาลกับเทคโนโลยีสุขภาพ : โอกาสและความท้าทาย” เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ การปรับระบบการบริการด้านสุขภาพโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน เสริมการบริการให้ประชาชนมีความปลอดภัย รวมถึงเรียนรู้แนวทางและโอกาสของวิชาชีพการพยาบาล เพื่อรับมือก้าวไปกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยบรรยายความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทางการพยาบาลและด้านเทคโนโลยีให้กับ พยาบาลวิชาชีพ บุคลากรสายวิทยาศาสตร์สุขภาพและสาธารณสุข นักศึกษาเเละบุคคลทั่วไปที่สนใจ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ รำลึกถึงความมุ่งมั่นและอุดมการณ์ของมิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้บุกเบิกด้านพยาบาลศาสตร์ยุคใหม่ เนื่องในวันพยาบาลสากล 12 พฤษภาคม ของทุกปี โดยในปี 2566 จัดการประชุมวิชาการเพื่อให้ความสำคัญของการยกระดับคุณภาพ การบริการของพยาบาลวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง และมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาระบบบริการที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีทั้งพยาบาลรวมถึงผู้ป่วย ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรหลายแขนงร่วมให้ความรู้ได้แก่ ศาสตราจารย์เกีรยติคุณ ดร. วิภาดา คุณาวิกติกุล รองอธิการบดี ฝ่ายวิทยาศาสตร์สุขภาพ และรักษาการคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ พีไอเอ็ม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และบรรยายในหัวข้อ การศึกษาพยาบาลในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลว่า “มีความยินดีอย่างยิ่งที่คณะพยาบาลศาสตร์ พีไอเอ็ม มีโอกาสรับใช้พยาบาลทุกท่าน สนับสนุนความรู้ทางวิชาการท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพยาบาลรุ่นใหม่ต้องเตรียมตัว ในขณะเดียวกันพยาบาลรุ่นพี่ก็ต้องอัปเดตความรู้ใหม่อยู่เสมอเช่นกัน การประชุมในวันนี้จะเน้นเนื้อหาทางเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเป็นแนวทางที่จะดึงศักยภาพของตนเองมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถและมีความสุขในการทำงาน”
ทางด้าน คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ได้บรรยายหัวข้อ “เทคโนโลยีสุขภาพกับโอกาสการรับบริการสุขภาพของประชาชน” กล่าวถึงการท้าทายของการใช้เทคโนโลยีมาตอบโจทย์การเข้าถึงทางการแพทย์ โดยทรูมีส่วนร่วมพลิกโฉมการดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีบางส่วน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ การวินิจฉัยที่แม่นยำ การสื่อสารแบบทันที วิดีโอสตรีมมิ่งคุณภาพสูง และการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ พร้อมยกตัวอย่าง แอปพลิเคชัน หมอดี (MorDee) แพลตฟอร์มสุขภาพครบวงจรที่สนับสนุนคุณภาพชีวิตให้คนไทยได้ใช้บริการด้านสุขภาพอย่างสะดวกสบาย ง่าย และปลอดภัย ใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน เชื่อมโยงบริการด้านสุขภาพไว้ในแอปฯ เดียว ผ่านระบบออนไลน์ได้จากทุกที่ทั่วประเทศ และ True Health จุดบริการมุมสุขภาพให้บริการเจาะเลือดและฉีดวัคซีนต่างๆ และให้บริการจากแพทย์แบบออนไลน์-ออฟไลน์ที่ไร้รอยต่อ ช่วยอำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการโดยไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล ในด้านนวัตกรรมเพื่อศึกษา ทรู ดิจิทัล ทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนทางการแพทย์ และ ผู้ที่สนใจฝึกการกดหน้าอกกู้ชีพ อาทิ โครงการล่าสุด พัฒนาโซลูชัน Augmented Reality Hololens for CPR เป็นการยกระดับและมาตรฐานการฝึกกู้ชีพขั้นพื้นฐานที่มีความสําคัญยิ่งต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นให้มีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น
จากนั้นเป็นการบรรยายของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกรียงไกร ทัศนวิภาส ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ (Innovation and Invention Excellence Centre – IIEC) คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม ในหัวข้อ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางสุขภาพ” พูดถึงเทรนด์ Trend Technology and Innovation for Health เน้นย้ำถึงความสำคัญของเทคโนโลยี นวัตกรรมเชื่อมโยงให้เห็นภาพไปสู่การใช้ประโยชน์ในระบบสุขภาพ แชร์แนวทางการริเริ่มคิดค้นเทคโนโลยี เชิญชวนบุคลากรสายวิชาชีพการพยาบาลและสาธารณสุขร่วมกันขับเคลื่อนผลลัพธ์ทางการพยาบาลให้เกิดสิ่งใหม่ๆอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่กระบวนการการพัฒนา แก้ปัญหาตอบโจทย์ตามความต้องการของสังคมแห่งอนาคต ในขณะเดียวกันให้ความเห็นว่าเทคโนโลยีเพื่อการแพทย์นั้นสามารถตอบโจทย์ในแง่ของการศึกษา หรือการฝึกทักษะของผู้เรียนได้ดี พร้อมยกตัวอย่าง AppointMed แอปพลิเคชัน Prototype หนึ่งในโครงงานของนักศึกษาที่คิดจาก Pain Point การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ตัวช่วยการเก็บข้อมูลผู้ป่วย ใบนัด แจ้งเตือนการทานยา การจัดตารางผู้ที่พาผู้ป่วยไปพบแพทย์ได้ง่ายขึ้น
ถัดมาเป็นการอภิปรายหัวข้อ “พยาบาลกับการตอบสนองต่อความต้องการของสังคมในโลกยุคเทคโนโลยีดิจิทัล” โดย ดร.ทิวาพร พงษ์มารุทัย Head of Nursing Planning บริษัท ซีพี เมดิทัล เซ็นเตอร์ จำกัด (CP Medical Center), ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิกุล พรพิบูลย์ อาจารย์ประจำ คณะพยาบาลศาสตร์ พีไอเอ็ม, ดร.เกศกนก แสงอุบล ผู้จัดการฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลซีจีเอช ลำลูกกา และดำเนินรายการโดย ดร. ฬุฬีญา โอชารส อาจารย์ประจำ คณะพยาบาลศาสตร์ พีไอเอ็ม ซึ่งทั้ง 3 ท่านได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการพยาบาล พร้อมด้วยการวิเคราะห์ถึงพยาบาลวิชาชีพควรปรับตัวอย่างไรเพื่อยุคดิจิทัลในอนาคต และแนะให้พยาบาลสมัยใหม่ควรรอบรู้หลายด้าน รู้ถึงเป้าหมายและคุณค่าที่สามารถนำไปใช้กับประชาชนได้ ปิดท้ายเสริมเรื่องการศึกษานอกจากจะเก่งทักษะทางวิชาชีพพยาบาลแล้ว ยังต้องเตรียมผู้เรียนเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพเกี่ยวกับการเรียนการสอน การใช้งานเครื่องมือ การฝึกอบรม การทำงาน และการจัดการต่างๆมาพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพการพยาบาล ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคและความต้องการของสาธารณสุข