อ.เกียร์ – ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์
อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม
หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งทีม KEETA
การแข่งขัน Deep Space Food Challenge เป็นการแข่งขันเพื่อแก้ปัญหา 100 ปีของ NASA เนื่องจากช่วง 100 ปีที่ผ่านมา แม้วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศจะก้าวหน้าไปแค่ไหน แต่ปัญหาหลักที่ยังคงอยู่เสมอ คือ การผลิตอาหารให้เพียงพอสำหรับมนุษย์ที่ขึ้นไปสำรวจและใช้ชีวิตบนอวกาศ ครั้งนี้ NASA ให้โจทย์สำหรับการผลิตอาหารให้นักบินอวกาศ 4 คน ระยะเวลา 3 ปี
ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งทีมกีฏะ เล่าว่า
“ผมและ ดร.วเรศ จันทร์เจริญ ผู้ร่วมก่อตั้งทีมอีกคนหนึ่ง เราทำงานวิจัยด้านอวกาศกันมาเป็นระยะอยู่แล้ว พอมีการแข่งขันนี้ ก็คุยกันถึงการต่อยอดจากเรื่องที่มีองค์ความรู้กันอยู่แล้วอย่างเรื่อง 3D Food Printer เพื่อนำมาเป็นเครื่องปรินท์อาหารบนอวกาศ หากเอามาประกอบกับวัตถุดิบที่เหมาะสม น่าจะตอบโจทย์การแก้ปัญหานี้ได้ เรา 2 คน และน้องๆ นิสิตฝึกงานที่ Space Zab สตาร์ทอัพวิจัยด้านอวกาศของ ดร.วเรศ จึงเริ่มต้นสร้างทีมร่วมมือกันแก้โจทย์นี้ ก่อนจะได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานและขยายมาสู่ทีมที่รวมตัวกันจากนักวิจัยสหสถาบัน”
KEETA ทีมวิศวกรรมอวกาศของนักคิดและนักวิชาการรุ่นใหม่
KEETA เป็นเครือข่ายความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่น SPACE ZAB, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์, และหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำงานร่วมกัน โดยได้รับการสนับสนุนทั้งด้านทุนวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทในกลุ่มซีพี ออลล์ และบริษัท ซีพีแรม จำกัด ผู้นำด้านอุตสาหกรรมการผลิตอาหารของไทย เพื่อให้ทีม KEETA สามารถออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีอาหารอวกาศนี้ได้สำเร็จ
โจทย์ในการแข่งขันของ Deep Space Food Challenge
สำหรับโจทย์ของโครงการพัฒนาระบบผลิตอาหารอัตโนมัติและครบวงจรสำหรับนักบินอวกาศ หรือ Deep Space Food Challenge ที่จัดโดย องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration – NASA), องค์การอวกาศแคนาดา (Canadian Space Agency – CSA) และและมูลนิธิเมธูเซลาห์ (Methuselah Foundation) ในครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญในการเฟ้นหาทีมผู้สร้างเทคโนโลยีและระบบผลิตอาหาร ที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการสำหรับนักบินอวกาศและผู้คนบนโลก โดยการผลิตนี้จะต้องคำนึงถึงโจทย์ทั้ง 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. ความต้องการอาหารในระยะยาว 3 ปี โดยไม่มีการส่งเสบียงเสริมจากโลก
2. เพียงพอต่อนักบินอวกาศ 4 คน
3. เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงอาหารบนโลก โดยเฉพาะการผลิตอาหารในพื้นที่ใจกลางเมืองและพื้นที่ห่างไกล
4. ผลิตอาหารได้ในปริมาณมากที่สุด โดยใช้ปัจจัยการผลิตน้อยที่สุด และผลิตของเสียน้อยที่สุด
5. สร้างสรรค์อาหารที่อร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการ ปลอดภัย และมีกระบวนการเตรียมอาหารที่ใช้เวลาน้อยที่สุดสำหรับนักบินอวกาศ
จุดเด่นของระบบ KEETA
KEETA เป็น 1 ใน 9 ทีมจากทั่วโลก ที่ผ่านเข้ารอบการแข่งขันรอบแรกของโครงการส่งอาหารไปอวกาศ ‘Deep Space Food Challenge’ ด้วยไอเดีย ‘Bio Culture Foods’ ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่อยู่ภายใต้การพัฒนาของบริษัท ‘SPACE ZAB Company’ เข้ากับภูมิปัญญาของคนไทยในการกินสิ่งมีชีวิตจากระบบนิเวศขนาดเล็กอย่าง ‘แมลง’ ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนชั้นเลิศแถมมีรสชาติหลากหลาย โดย อ.เกียร์ได้เล่าให้เราฟังว่า
“วัตถุดิบหลักสำหรับการนำมาเป็นอาหารที่ทีมนึกถึงคือ หนอนแมลง เนื่องจากเป็นอาหารที่คนไทยนิยมทานอยู่แล้ว มีรสชาติอร่อย มีคุณค่าทางอาหารสูง และเป็นสิ่งมีชีวิตที่ขยายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่องครั้งละจำนวนมาก ทีมค่อยๆ ตัด Choice แมลงชนิดต่างๆ ลงมาเรื่อยๆ จนเป็นหนอนด้วงสาคู ซึ่งเป็นแมลงที่ปลอดภัย ไม่มีผลกระทบเรื่องเสียงหรือการบินในอวกาศ แน่นอนว่าการเลือกวัตถุดิบเป็นแมลง ส่งผลให้ทีมตั้งชื่อว่า กีฏะ (KEETA) ซึ่งแปลว่าแมลงนั่นเอง”
โดยทีม KEETA ได้ร่วมกันออกแบบระบบนิเวศขนาดเล็กที่นำของเสียภายในยานมาหมุนเวียน เพื่อปลูกพืชสำหรับเลี้ยงด้วงสาคู ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีโปรตีนสูง และได้นำวัฒนธรรมการกินอาหารของไทยมาเป็นตัวชูผ่านเมนูที่แตกต่าง แปลกใหม่ และมีคุณค่าทางอาหาร นำไปผลิตเป็นอาหารสำหรับนักบินอวกาศในลักษณะของระบบวิศวกรรมขั้นสูงที่ทำงานร่วมกัน โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ได้อาหารที่มีความสดใหม่ และมีประสิทธิภาพสูงกว่าอาหารบางประเภทที่ถูกส่งไปจากโลกเพื่อรับประทานในปัจจุบัน เช่น อาหารแห้ง และอาหารพร้อมทานที่ถูกรีดน้ำออกจนหมด
ผลงานล่าสุดของทีม KEETA
อ.เกียร์ ได้กล่าวถึงเป้าหมายสูงสุดของทีม KEETA ไว้ดังนี้
“เป้าหมายสูงสุดของทีม คือการคว้าชัยชนะบนเวทีนี้ เพราะจะเป็นก้าวสำคัญพาไทยขึ้นแท่นผู้นำในเศรษฐกิจอวกาศแบบใหม่ (New Space Economy) ตอบโจทย์การผลิตอาหารอวกาศ เพื่อหลากธุรกิจใหม่ที่ทยอยเกิดขึ้นแล้ว ทั้งการท่องเที่ยวอวกาศ การทำเหมืองในอวกาศ หรือแม้กระทั่งการขึ้นไปใช้ชีวิตจริงบนดาวต่างๆ
หากเราไปแข่งผลิตจรวด เรายังมีเรื่องต้องทำอีกมาก และทุ่มเงินอีกหลายพันล้าน แต่วันนี้เราเลือกแข่งด้านที่ไทยมีจุดแข็ง มีคู่แข่งน้อย สิ่งที่เราทำก็ถือว่าแปลกใหม่ ต่างจากที่อาหารอวกาศยุคก่อนต้องเป็นแคปซูล หรือผลิตด้วยระบบฟรีซดราย หากได้รับแรงสนับสนุนที่ดีจากทุกภาคส่วน ก็อาจทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำธุรกิจอาหารอวกาศของโลก”
ปัจจุบัน ทีม KEETA เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวจากประเทศไทยและทวีปเอเชีย ที่ได้รับการคัดเลือกให้ผ่านเข้ารอบที่ 2 ของการแข่งขันจากทีมที่เข้าร่วมทั่วโลก และพร้อมมุ่งหน้าเต็มกำลังเพื่อการคว้าชัยชนะในรอบที่ 2 ของการแข่งขันด้วยระบบตัวอย่างทางวิศวกรรมที่พร้อมใช้งานได้จริง โดยทีมงานจาก NASA จะบินมาวิเคราะห์ผลงานถึงประเทศไทยในช่วงต้นปี 2566 อีกด้วย