จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง อาทิ ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การทำงาน รวมถึงผลกระทบที่เห็นได้อย่างชัดเจนในด้านสาธารณสุข ทั้งการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ขาดแคลนอุปกรณ์สนับสนุนการรักษา เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นในขณะนั้นและในด้านสิ่งแวดล้อม การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะหน้ากากอนามัย ขยะติดเชื้อ รวมถึงขยะพลาสติกจากการกักตัวในช่วงที่ประกาศล็อกดาวน์ อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของชีวิตมนุษย์ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ และสิ่งแวดล้อมโดยมูลฝอยติดเชื้อเป็นตัวสำคัญก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคและมลพิษทางอากาศ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “โครงการแยกขวดช่วยหมอ” โดยความร่วมมือจากเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand ร่วมกับ บริษัท แซดเชฟ จำกัด, YOU เทิร์น Platform by GC, มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทย์ศาสตร์มหาลัยธรรมศาสตร์ และ งานสิ่งแวดล้อม สำนักกิจการนักศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ได้เข้าร่วมอาสาเป็นจุดรับบริจาคขวดพลาสติกใส (PET) ใช้แล้ว หรือ ขวดเพ็ท เพื่อเพิ่มจุดบริการ (Drive Thru) บริจาคขวดน้ำพลาสติก สนับสนุนให้ประชาชนในจังหวัดนนทบุรีได้นำขวดมาบริจาคและนำส่งไปตัดเย็บเป็นชุด PPE Level2 ที่สามารถป้องกันไวรัสได้ส่งมอบให้บุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลที่ขาดแคลน หรือหน่วยการแพทย์ได้ใช้อุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็น มีมาตรฐานและมีอย่างเพียงพออีกทั้งยังช่วยการลดปริมาณการเกิดขยะติดเชื้อ เนื่องจากชุดสามารถซักได้ 20 ครั้ง เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ยังมียอดผู้ติดเชื้อสะสมจนถึงปัจจุบัน
โดยในปี 2565 นี้ เพื่อสานต่อความมุ่งมั่นในการสนับสนุนด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน พีไอเอ็มร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร จัด“พิธีเปิดโครงการแยกขวดช่วยหมอนนทบุรี” โดยได้รับเกียรติจาก คุณราชันย์ ซุ้นหั้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นประธานในพิธีและมอบป้าย จุด Drop Point ให้กับองค์กรเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ นำโดย คุณนงลักษณ์ ซุ้นหั้ว รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนนทบุรี พลตรี นฤดล ท้าวฤทธิ์ ผู้บัญชาการศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร คุณนิยม ประสงค์ชัยกุล รองนายกเทศมนตรีนครนนทบุรี คุณปรีดา เชื้อผู้ดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอิฐ คุณวิไลวัลย์ คำแสน ผู้อำนวยการกองการศึกษา เทศบาลนครปากเกร็ด คุณชนัมภ์ ชวนิชย์ Co-founder จากบริษัท รีไซเคิลเดย์ จำกัด คุณเกศทิพย์ หาญณรงค์ Founder & CEO บริษัท ซีโร่เวส โยโล จำกัด คุณกิตติศักดิ์ พุกเจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกกิจกรรมเพื่อสังคมและสื่อสารภายในองค์กร บริษัท โมโน เน็กซ์ จำกัด (มหาชน) คุณชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และ คุณจันทิมา สุรรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักกิจการนักศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ณ ห้อง Auditorium ชั้น 16 อาคาร CP All Academy สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ
ในโอกาสเดียวกันนี้ พีไอเอ็มร่วมเดินหน้า “โครงการแยกขวดช่วยหมอนนทบุรี” ส่งมอบชุด PPE จำนวน 100 ชุด จากการดำเนินงานโดย ชมรม Less Plastic@PIM และ PIM Recycling Business สำนักกิจการนักศึกษา ร่วมมือจัดสรรค่าผลิตและตัดเย็บชุด PPE ระยะแรกนี้ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ของจังหวัดนนทบุรี สร้างความตระหนักเรื่องการจัดการขยะให้ถูกวิธีและเกิดประโยชน์ ต่อการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชน
เสริมกิจกรรมที่น่าสนใจ จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยคุณชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เผยถึง “โครงการต้นไม้ล้านต้น ล้านความดี” กิจกรรมจิตสาธารณะของผู้กู้ยืม กยศ. โดยการปลูกต้นไม้ 1 ต้น นับเป็นจิตสาธารณะได้ 2 ชั่วโมง นับเป็นกิจกรรมที่เชิญชวนให้นักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืม กยศ. และสถานศึกษาทั่วประเทศ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการจัดทำโครงการดังกล่าว เพื่อรวมพลังส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันแสดงพลังในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงมีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมในด้านอื่นๆ ต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “โมเดลธุรกิจตามแนวคิด Circular Economy เพื่อความยั่งยืน” คุณกฤติกา ชัยวิไล Vice President บริษัท แซดเซฟ จำกัด คุณเมธา เสนทอง ผู้ประสานงานเครือข่ายลดพลาสติกไทยแลนด์ คุณครูนิรันดา โกเมนทร์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนคลองเกลือ คุณพรรทิพา พร้อมวงศ์ ประธานคัดแยกขยะ หมู่บ้านสวัสดิการกทม. และ คุณจันทิมา สุรรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักกิจการนักศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เพื่อตอกย้ำความสำคัญและสร้างรากฐานจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมที่มั่นคงด้วยการให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้ที่สนใจและนักศึกษา เติมความเข้าใจในการส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่ เห็นคุณค่าในการทำประโยชน์เพื่อสังคม สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองในการดำเนินชีวิตที่สามารถอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ดีขึ้นได้ด้วย ที่สำคัญส่งเสริมการรณรงค์ช่วยลดปริมาณขยะขวดพลาสติกใส (PET) มารีไซเคิลเป็นชุด PPE ให้คุณหมอได้ใช้ประโยชน์เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด และลดการเกิดขยะติดเชื้อเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพอนามัยของชีวิตมนุษย์ มากกว่านั้นได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ต่อยอดความรู้ ในด้านการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การคัดแยกขยะที่สามารถสร้างอาชีพได้ สร้างคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อม เสริมธุรกิจให้เข้าหาความยั่งยืน สร้างคุณค่าทางการเงินและการเติบโตของธุรกิจในอนาคตได้ รวมถึงการขยายความร่วมมือจากภาครัฐและองค์กรต่างๆ ซึ่งจะได้รับป้าย จุด Drop Point สำหรับการเพิ่มจุดบริการ (Drive Thru) รับบริจาคขวดน้ำพลาสติก โดยผู้ที่สนใจบริจาคสามารถใช้จุดบริการ (Drive Thru) ได้ ดังนี้ เทศบาลนครนนทบุรี เทศบาลนครปากเกร็ด องค์การบริหารส่วนตำบลท่าอิฐ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร บริษัท โมโน เน็กซ์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซีโร่เวส โยโล จำกัด
ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา งานสิ่งแวดล้อม สำนักกิจการนักศึกษา พีไอเอ็ม นำทีมโดยบุคลากรและนักศึกษา มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม เช่น ตั้งจุดบริการคัดแยกขยะสถานที่ฉีดวัคซีน ณ ศูนย์การฉีดวัคซีน Covid-19 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น และคัดแยกขยะ รับบริจาคพลาสติก บริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างถูกวิธี เพื่อลดการเกิดขยะในหลุมฝังกลบ นำไปหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ รวมไปถึงการนำวัสดุไปรีไซเคิลในยามเกิดวิกฤต อาทิ พลาสติกส่งต่อเพื่อรีไซเคิลเป็นแหล่งพลังงานทำเชื้อเพลิงและทำเครื่องจักรกลการเกษตร, รับบริจาคลังกระดาษไปผลิตเป็นเตียงกระดาษเอสซีจีพีมอบแก่โรงพยาบาลสนาม และรับบริจาค กล่อง ซองไปรษณีย์ ไม่ใช้แล้วให้กลายเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ร่วมกับไปรษณีย์ไทย โดยการดำเนินกิจรรมที่ผ่านมานั้นรวบรวมขวดพลาสติกได้ จำนวน 7,406 กิโลกรัม คิดเป็น 456,958 ขวด บริจาคชุด PPE ไปแล้วจำนวน 25,385 ชุด ส่งมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทั้งนี้พีไอเอ็มพร้อมมุ่งสนับสนุนและสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรต่างๆ รวมพลังเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการด้านสุขภาพ ส่งผลต่อด้านสาธารณสุขของประเทศและการส่งเสริมให้นักศึกษา บุคลากร ตระหนักรู้คุณค่าของการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการสร้างขยะ ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน